5 วิธีเล่นหุ้นสำหรับมนุษย์เงินเดือน
ยุคที่ดอกเบี้ยเงินฝากน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ มนุษย์เงินเดือนที่พอจะมีเงินเหลือจากรายจ่ายประจำเดือนอยู่บ้าง (บางคนบอกว่าไม่เหลือ แถมไม่พอใช้ด้วย) ก็ต้องหาทางบริหารเงินให้งอกเงย ทางหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมพอสมควรคือการเล่นหุ้น ผมลองรวบรวมวิธีการเล่นหุ้นที่ผมใช้อยู่ทุกวันนี้มาแบ่งปันกันในฐานะของมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งครับ
1. ไม่นั่งเฝ้าราคาทั้งวัน การเป็นมนุษย์เงินเดือนนั้น บริษัทจ้างเรามาเพื่อทำงานครับ ถ้าคุณไม่ได้ทำงานเป็นมาร์ของโบรกที่ต้องคอยดูราคาขึ้นๆ ลงๆ คุณก็ไม่ควรนั่งจ้องหน้าจอหุ้นตลอดเวลา มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผมเคยเล่นหุ้นโดยมีระบบการซื้อขายที่ตัดสินใจจากราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วงนั้นผมต้องนั่งเฝ้าหน้าจอทั้งวันเลย ดีที่ตอนนั้นทำงานเป็นฟรีแลนซ์เลยปรับเวลาทำงานตัวเองเป็นหลังตลาดปิด แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองเสีย Productivity มาก เมื่อเทียบกับเงินเพียงเล็กน้อยที่ได้มาจากการเฝ้าหน้าจอ
2. ไม่เล่นรอบเพื่อหวังรวยเร็ว เชื่อว่า 99% ของคนที่ไม่เคยเล่นหุ้นมาก่อนและกำลังตัดสินใจจะเล่นโดยที่ยังไม่มีความรู้อะไรมากนัก ย่อมคิดว่าการเล่นหุ้นทำให้รวยเร็ว เริ่มจากเงินลงทุนจำนวนไม่มากของตัวเอง ซื้อหุ้นตอนราคาต่ำๆ ถือไว้สักพักราคาจะวิ่งขึ้น จากนั้นก็ขายเพื่อเอาทุนคืน เอากำไรที่ได้ไปซื้อหุ้นตัวใหม่ ทำแบบนี้ไม่กี่รอบ จากเงินลงทุนหลักหมื่นจะกลายเป็นหลักแสน หลักแสนจะกลายเป็นหลักล้าน ผมไม่ปฏิเสธว่ามีคนที่ทำแบบนี้แล้วพอร์ตโตขึ้นจริง แต่คำถามคือมีคนกี่เปอร์เซ็นต์ที่ทำได้แบบนี้? และเขาจะได้กำไรไปเรื่อยๆ หรือเปล่า? มันทำให้ผมคิดถึงคนที่เล่นหวย บางคนดวงดีทำบุญมาเยอะ ซื้อหวยแล้วถูกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะถูกหวยบ่อยๆ เหมือนเขานะ
3. เล่นหุ้นให้เหมือนฝากประจำ สมัยที่ผมทำงานใหม่ๆ ได้เงินเดือน 20,000 บาท ผมจะแบ่งเงินครึ่งหนึ่งสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อีกครึ่งเอาเข้าบัญชีเงินฝากประจำทุกเดือนเป็นเวลา 24 เดือน มันน่าอึดอัดเหมือนกันเวลาที่ผมอยากซื้อของราคาสูงๆ อย่างโน้ตบุ๊ก แต่มันก็ช่วยให้มีวินัยทางการเงิน และส่งผลให้สองปีต่อมา ผมมีเงินก้อน 240,000 บาท บวกดอกเบี้ยอีกก้อนเล็กๆ ตอนนี้ผมประยุกต์ใช้วิธีนี้กับการเล่นหุ้น คือแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้ทุกเดือนเพื่อโอนเข้าบัญชีหุ้น (ผมใช้บัญชีเงินสด) บางคนอาจใช้เงินก้อนนี้ซื้อหุ้นทุกเดือนเลยโดยไม่สนราคา แต่ผมใช้วิธีถือเงินสดไว้และรอเข้าซื้อในจังหวะที่หุ้นตกแรงๆ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ละปีจะมีช่วงเวลาที่หุ้นตกหนักประมาณ 2-3 ครั้ง
4. ซื้อหุ้นเหมือนซื้อกิจการ เป็นกฎของนักลงทุนแนวพื้นฐาน (Fundamental) และนักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) เนื่องจากมนุษย์เงินเดือนไม่มีเวลานั่งเฝ้าราคา และไม่หวังรวยเร็วจากการเล่นรอบ เลยต้องซื้อหุ้นโดยวิเคราะห์พื้นฐานของธุรกิจนั้นๆ เสมือนว่าเราจะซื้อกิจการ ต้องเข้าใจว่ารายรับของบริษัทมาจากไหน มีรายจ่ายอะไรบ้าง ลูกค้าคือใคร สภาพตลาดเป็นยังไง อีก 5 ปี ตลาดจะใหญ่ขึ้นมั้ย คู่แข่งแข็งแกร่งแค่ไหน ผู้บริหารเป็นยังไง ฯลฯ ถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามาทำให้ราคาหุ้นตกหนัก ผมก็จะเข้าใจว่าเหตุการณ์นั้นส่งผลกระทบต่อพื้นฐานของธุรกิจในระยะยาวจริงหรือเปล่า ถ้ามีผลแค่ระยะสั้น ผมก็จะใช้เงินสดในข้อ 3 เพื่อซื้อหุ้นเพิ่ม แต่ถ้าดูแล้วน่าจะส่งผลกระทบในระยะยาว แบบนี้ก็ค่อยพิจารณาขายทิ้ง
5. ตั้งเป้าหมายว่าจะมีรายได้จากเงินปันผลไว้ใช้ตอนเกษียณ ลองประเมินดูว่าทุกวันนี้ถ้าเรากินอยู่อย่างประหยัด ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ลองคูณเงินเฟ้อเพื่อดูว่าอีก 20-30 ปีที่เราเกษียณแล้ว เราต้องใช้เงินเท่าไหร่ ถ้าค่าใช้จ่ายของเราในอนาคตมาจากเงินปันผล แปลว่าตอนนั้นเราควรมีพอร์ตขนาดไหน พอร์ตของเราในปัจจุบันยังห่างจากเป้าหมายเท่าไหร่ ในแต่ละปีเราควรจะมีเป้าหมายในการเพิ่มขนาดพอร์ตปีละเท่าไหร่ ถ้าวางแผนให้ดีตั้งแต่ตอนที่ยังมีแรงทำงาน พอถึงตอนที่ทำงานไม่ไหวแล้ว เราจะได้ไม่ต้องลำบากลูกหลานครับ
อภิศิลป์ ตรุงกานนท์
จบตรีวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นสาขาที่ไม่มีการสอนวิชาบัญชีหรือไฟแนนซ์
แต่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเองตั้งแต่ ป.6 และเริ่มลงทุนในพันธบัตร
เงินฝากประจำ และหุ้นตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ จากนั้นถึงต่อโทการจัดการและกลยุทธ์
เลยมีโอกาสได้เรียนบัญชีกับไฟแนนซ์ ทำให้พบว่าเป็นเรื่องน่าปวดหัวมาก
แต่ก็มีความเซ็กซี่น่าคลุกวงในอยู่ไม่น้อย
ต้นฉบับ
http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/top ... 61206.html
http://financial.issexy.net/2012/07/5-s ... salaryman/
Attachments: |
portfolio-value-estimation-for-retirement.png [ 12.92 KiB | Viewed 1064 times ] |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น