สวัสดี

สวัสดีทุกท่านครับ เราจะเป็นสถานที่ๆรวบรวมบทความน่าสนใจที่สร้างมุมมองที่สดใหม่ในการลงทุน เพื่อลับความคมของการลงทุนให้เฉียบ คม เพื่อสร้างพอร์ตโพลิโอไปสู่เส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงิน และหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านครับ

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สินทรัพย์ไม่มีตัวตน

สินทรัพย์ไม่มีตัวตน


โดยส่วนใหญ่นักลงทุนมักให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ตัวเลขในงบการเงินทั้งในอดีตและปัจจุบันก่อนจะตัดสินใจลงทุน แต่นักลงทุนหลายคนไม่เข้ารายการ “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” หรือ Intangible Assets ที่แสดงอยู่ในงบแสดงฐานะการเงินว่าหมายความถึงอะไรและมีความสำคัญอย่างไร หากนักลงทุนเข้าใจรายการสินทรัพย์ไม่มีตัวตนมากขึ้น นักลงทุนอาจสามารถวิเคราะห์งบการเงินได้ดีขึ้น

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) กันก่อน สินทรัพย์ไม่มีตัวตน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง ไม่สามารถมองเห็นหรือสัมผัสได้ แต่สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ สินทรัพย์ไม่มีตัวตนมักเกี่ยวข้องกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ด้านเทคนิค การออกแบบ การนำระบบหรือขั้นตอนใหม่มาใช้ สิทธิตามใบอนุญาตต่างๆ สินทรัพย์ทางปัญญา ความรู้ด้านการตลาด และเครื่องหมายการค้า เป็นต้น
สินทรัพย์ไม่มีตัวตนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการให้ประโยชน์ทราบได้แน่นอน (ระยะเวลาของสิทธิ์ที่ได้รับลดลงตามสัดส่วนของมูลค่าที่ลดลง เช่น ลิขสิทธิ์ Copyrights สิทธิบัตร Patents) และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน (สินทรัพย์ไม่เสื่อมค่าลงตามเวลา แต่อาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องหมายการค้า Trademark ซึ่งบริษัทไม่ต้องทำการตัดจำหน่าย)

สินทรัพย์ไม่มีตัวตนจัดเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนในงบแสดงฐานะการเงิน ทั้งนี้เนื่องจากสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือหมุนเวียนไปตามการดำเนินงานของธุรกิจเหมือนเงินสดหรือลูกหนี้การค้า

การรับรู้มูลค่าของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจะเป็นไปตามแหล่งที่มาของสินทรัพย์นั้นๆ หากเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่กำเนิดจากกิจกรรมภายนอกบริษัท มูลค่าของสินทรัพย์จะเป็นไปตามราคาที่ตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือทางบัญชีจะเรียกว่า มูลค่ายุติธรรม ยกตัวอย่างเช่น หากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนมาจากการซื้อ ราคาซื้อจะถือเป็นมูลค่าของสินทรัพย์นั้นๆ หากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนมาจากการรวมธุรกิจ มูลค่าของสินทรัพย์จะขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ณ วันที่ซื้อธุรกิจ หากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้นได้มาจากการอุดหนุนของรัฐบาล มูลค่าของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจะบันทึกด้วยมูลค่ายุติธรรมหรือจำนวนเงินที่ระบุให้จ่ายเพื่อให้ได้มาซื่งสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้น แต่ถ้าหากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้นๆ ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับสินทรัพย์อื่น มูลค่าของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจะขึ้นอยู่กับมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่นำไปแลก

สำหรับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกิดขึ้นภายในบริษัท เช่น รายชื่อลูกค้า ชื่อสินค้า การวิจัยและพัฒนา ต้องตัดเป็นค่าใช้จ่ายในงวดที่กิด ยกเว้นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกิดขึ้นในขั้นตอนของการพัฒนาหากเข้าเงื่อนไขการรับรู้รายการและสามารถก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแก่บริษัทในอนาคต

หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการให้ประโยชน์ทราบได้แน่นอน แท้จริงแล้วไม่แตกต่างไปจากวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์เท่าใดนัก กล่าวคือ เมื่อบริษัทรับรู้สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (ที่มีอายุการใช้งานจำกัด) เป็นสินทรัพย์ในงบแสดงฐานะการเงิน บริษัทจะสามารถวัดมูลของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนโดยใช้วิธีราคาทุนหรือราคาที่ตีใหม่ หักค่าตัดจำหน่ายสะสมและค่าเผื่อการด้อยค่า

แต่สำหรับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน บริษัทจะไม่ตัดจำหน่ายสินทรัพย์นั้น แต่จะต้องพิจารณาการด้อยค่าให้เหมาะสม หากพบว่าสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเกิดการด้อยค่า บริษัทต้องตัดบัญชีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนทันที


เครดิตคุณ lazozy http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=51673

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น