สวัสดี

สวัสดีทุกท่านครับ เราจะเป็นสถานที่ๆรวบรวมบทความน่าสนใจที่สร้างมุมมองที่สดใหม่ในการลงทุน เพื่อลับความคมของการลงทุนให้เฉียบ คม เพื่อสร้างพอร์ตโพลิโอไปสู่เส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงิน และหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านครับ

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กฎการลงทุนของปีเตอร์ ลินซ์

กฎการลงทุนของปีเตอร์ ลินซ์



  • การลงทุนเป็นเรื่องสนุก แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยอันตราย หากคุณไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย
  • มุมมองทางการลงทุนที่เหนือกว่าของคุณไม่ใช่สิ่งที่ได้มาจากตลาด แต่เป็นสิ่งที่คุณมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว หากคุณใช้มุมมองที่เหนือกว่าของคุณไปลงทุนในบริษัทที่คุณเข้าใจ คุณจะสามารถเอาชนะตลาดหรือผู้เชี่ยวชาญได้
  • คุณสามารถเอาชนะตลาดได้ด้วยการละเลยฝูงชน
  • เบื้องหลังของหุ้นคือบริษัท จงค้นหาว่าบริษัทเหล่านั้นทำธุรกิจอะไรกันบ้าง     
  • บ่อยครั้งที่ความสำเร็จในการดำเนินงานของบริษัทจะไม่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จของราคาหุ้นในช่วงระยะเวลาสองสามเดือนหรือกระทั่งสองสามปี แต่ในระยะยาว ความสำเร็จของบริษัทจะมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จของราคาหุ้นแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ความแตกต่างนี้เป็นกุญแจหลักในการแสวงหาผลกำไรจากการลงทุน ความอดทนและการลงทุนในบริษัทที่ประสบความสำเร็จจะเห็นผลในที่สุด
  • "หุ้นตัวนี้มันกำลังจะขึ้น" ไม่ใช่เหตุผลที่คุณตัดสินใจซื้อมัน     
  • บริษัทที่ประสบปัญหามักจะมีเหตุการณ์ผิดคาดเกิดขึ้นเสมอ
  • อย่าเข้าไปพัวพันกับหุ้นจำนวนมากเกินไปจนติดตามไม่ไหว และควรที่จะซื้อและขายหุ้นในสถานการณ์ที่มีความเหมาะสม     
  • หากคุณไม่สามารถค้นหาบริษัทที่มีความน่าสนใจสำหรับการเข้าลงทุนได้ ให้ฝากเงินไว้กับธนาคาร จนกว่าคุณจะค้นพบหุ้นตัวที่คิดว่ามันน่าสนใจ
  • อย่าลงทุนในบริษัทใดๆโดยที่คุณยังไม่เข้าใจฐานะทางการเงินของมัน การขาดทุนครั้งใหญ่จะเกิดจากการลงทุนในบริษัทที่มีงบดุลอ่อนแอ 
  • หลีกเลี่ยงหุ้นร้อนที่อยู่ในอุตสาหกรรมร้อนแรง
  • สำหรับการลงทุนในบริษัทขนาดเล็ก คุณควรจะรอจนพวกมันมีผลกำไรก่อนแล้วค่อยเข้าไปลงทุน     
  • หากคุณกำลังคิดจะลงทุนในอุตสาหกรรมที่กำลังประสบปัญหา ให้ซื้อบริษัทที่มีความสามารถในการอยู่รอด นอกจากนี้ให้รอจนมันมีสัญญาณในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมก่อน
  • การถือหุ้นในจำนวนที่มากเกินไปจะทำให้คุณเสียประโยชน์จากการมุ่งเน้น     
  • ในทุกๆอุตสาหกรรมและทุกๆพื้นที่ของประเทศ นักลงทุนมือสมัครเล่นจะสามารถพบเจอบริษัทโตเร็วชั้นเยี่ยมได้ก่อนนักลงทุนมืออาชีพ
  • การตกต่ำลงของตลาดหุ้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ หากคุณมีการเตรียมตัวมันจะไม่สามารถทำร้ายคุณได้ และมันเป็นโอกาสซื้อของถูกอีกด้วย
  • หากคุณมีแนวโน้มที่จะขายทุกสิ่งทุกอย่างออกไปในภาวะตื่นตระหนก คุณควรที่จะหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นรวมถึงกองทุนด้วย
  • มันมีบางสิ่งให้วิตกกังวลเกี่ยวกับตลาดหุ้นเสมอ จงละเลยการคาดการณ์อันเลวร้ายตามรายการโทรทัศน์และวิทยุ ให้ขายหุ้นออกไปเมื่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเสื่อมถอย   
  • ไม่มีใครสามารถทำนายทิศทางเศรษฐกิจได้ เลิกฟังการคาดการณ์เหล่านั้น และมุ่งเน้นไปยังบริษัทที่คุณลงทุนอยู่
  • มันมีความประหลาดใจที่น่ายินดีให้ค้นหาในตลาดหุ้นเสมอ ผมหมายถึงบริษัทชั้นดีที่ถูกมองข้ามโดยตลาด     
  • หากคุณไม่ได้ศึกษาบริษัทแห่งไหนเลย การลงทุนของคุณก็จะเหมือนกับการเดิมพันในการเล่นไพ่โป๊กเกอร์ โดยที่คุณไม่ได้ดูไพ่
  • เวลาจะอยู่ข้างเดียวกับคุณ หากคุณลงทุนในบริษัทชั้นเยี่ยม     
  • หากคุณมีภาวะอารมณ์ที่เหมาะสมกับการลงทุนในหุ้น แต่คุณไม่มีเวลาหรือไม่อยากที่จะทำการศึกษา ก็ควรที่จะลงทุนในกองทุนหุ้น การลงทุนในกองทุนหุ้นควรจะมีการกระจายความเสี่ยง คือควรจะซื้อกองทุนที่แตกต่างกันหลายๆประเภท
  • คุณจะสามารถหาประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วกว่าด้วยการลงทุนในกองทุนต่างประเทศที่มีประวัติการสร้างผลตอบแทนที่ดี     
  • ในระยะยาวแล้ว พอร์ตโฟลิโอที่ประกอบไปด้วยหุ่นและ/หรือกองทุนหุ้นที่ได้รับการคัดสรรมาอย่างดีจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนของพอร์ตโฟลิโอที่ประกอบไปด้วยตราสารหนี้หรือการลงทุนในตลาดเงินเสมอ

วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แกะรอย บิล มิลเลอร์ : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์





บิล มิลเลอร์ ผู้จัดการกองทุน Value Trust แห่ง Legg Mason Capital Management ถือเป็นผู้จัดการกองทุนคนเดียวที่สามารถเอาชนะดัชนี S&P 500 ได้ติดต่อกันยาวนานที่สุดคือ 15 ปี (เขาเพิ่งจะเสียสถิติไปเมื่อปี 2006)

แม้ว่าเขาจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนน้อยลงมากหลังจากที่เขาเสียสถิติไปแล้ว และผลงานของเขาหลังจากนั้นก็ยังคงดูไม่ค่อยดีนัก แต่วิธีคิดของผู้จัดการกองทุนคนเดียวที่เคยชนะตลาดติดต่อกัน 15 ปีได้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

(เนื้อหาต่อจากนี้ไปมีบางส่วนเป็นความเห็นต่าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับความเชื่อที่มีอยู่เดิมของผู้อ่านได้)

บิล มีประวัติที่แปลกกว่าผู้จัดการกองทุนทั่วไป เขาไม่ได้เรียนมาทางการเงินเลย แต่เขาจบปริญญาเอกทางด้านปรัชญา ซึ่งเขาบอกว่า วิธีคิดแบบปรัชญามีอิทธิพลต่อวิธีการมองตลาดทุนของเขาอย่างมาก
เดิมที บิลไม่ได้ทำงานด้านการเงิน แต่เขาต้องไปรับส่งภรรยาของเขา ซึ่งทำงานอยู่ที่ Legg Mason ทุกวัน เขาจึงชอบไปนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุดของบริษัท เมื่อประธานบริษัทเห็นเขาเป็นประจำก็เกิดความสนใจว่า ทำไมคนนี้จึงชอบใช้ห้องสมุดทางการเงินที่เขาอุตส่าห์สร้างขึ้นมาเพื่อหวังให้พนักงานบริษัทอ่านหนังสือมากๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ แต่กลับไม่ค่อยมีพนักงานของบริษัทมานั่งอ่าน

เมื่อได้คุยกัน ก็ถูกใจในความคิดความอ่านจึงได้ชวนบิลมาทำงาน แล้วชีวิตของบิลก็เดินเข้าสู่วงการการเงินนับแต่นั้น จนกลายมาเป็นผู้จัดการกองทุน ที่มีชื่อเสียงระดับตำนานในเวลาต่อมา

บิล บริหารกองทุน Value Trust ซึ่งเขาบอกว่าเป็นกองทุนที่ยึดหลัก Value Investment แต่เขามักถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอว่าไม่ได้ใช้หลักการดังกล่าวจริงๆ เนื่องจากหุ้นส่วนใหญ่ในพอร์ตเป็นหุ้นที่ตลาดมองว่าเป็น Growth Stocks เป็นส่วนใหญ่ (Amazon, Google, EBay, etc)

บิล แย้งว่า สำหรับเขา Value Investment คือการซื้อหุ้นที่เทรดต่ำกว่าคุณค่าของมันมากๆ ไม่ว่าหุ้นเหล่านั้นจะเป็นหุ้นอะไร ที่พอร์ตของเราถือหุ้นเทคโนโลยีไว้มาก เป็นเพราะเรามองว่า หุ้นเทคโนโลยีในปัจจุบันจำนวนมาก เป็นหุ้นที่ยังเทรดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมันมาก

พีอีไม่ใช่สิ่งที่เขาใช้มองหาคุณค่า เขามองว่าพีอีใช้บอกคุณค่าได้แค่เพียงบางด้านเท่านั้น

เมื่อตอนที่เขาลงทุน ใน Dell เทรดที่พีอี 35 เท่า ในขณะที่ Gateway เทรดที่ 12 เท่า แต่บิลเลือก Dell เพราะในเวลานั้นธุรกิจของ Dell สร้างผลตอบแทนได้ 200% ของเงินลงทุนทุกปี (Return on investment) ในขณะที่ Gateway ทำได้แค่ 40% การที่ Dell เทรดสูงกว่า Gateway แค่ 3 เท่าทั้งที่สามารถสร้างผลตอบแทนของเงินลงทุนได้สูงกว่าถึง 5 เท่า จึงแสดงว่า Dell เป็นหุ้นที่ undervalued มากกว่าเมื่อเทียบกับ Gateway

ในการหา intrinsic value บิลจะใช้หลายโมเดลเสมอเพื่อพิจารณาประกอบกันเสมอ แทนที่จะใช้ตัวชี้วัดตัวใดตัวหนึ่งเพียงแค่ตัวเดียว

นอกจากการเลือกลงทุนแต่หุ้นที่ประเมินว่ายังเทรดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆแล้วเท่านั้น บิลยังอาศัยการมองธุรกิจโดยเน้นที่ภาพระยะยาวมากเป็นหลัก

บิล อธิบายว่า ”หุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในระยะยาว ราคาหุ้นมักจะผันผวนมากในระยะสั้น เพราะคุณค่าของมันขึ้นอยู่กับการเติบโตในอนาคต ราคาจึงอ่อนไหวกับความคาดหวังของตลาดมาก นักลงทุนจึงมักรู้สึกว่าเป็นหุ้นที่เสี่ยง แต่ที่จริงแล้ว หุ้นของบริษัทที่สามารถสร้างรายได้และกำไรให้เติบโตสูงต่อเนื่องเท่านั้น ที่ราคาหุ้นจะวิ่งไปได้ไกลที่สุดในระยะยาว มันจึงเป็นหุ้นที่น่าถือไว้มากที่สุด สำหรับ Growth Investor”

การลงทุนที่มองภาพในระยะยาวมากเป็นหลักทำให้ Value Trust เป็นกองทุนที่มีอัตราการเทรดที่ต่ำมาก คือประมาณ 20% ของทั้งพอร์ตต่อปีเท่านั้น (เทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวมในสหรัฐฯ ซึ่งเกิน 100% ต่อปี) บิลต้องการให้พอร์ตโตไปด้วยกันกับกิจการที่เขาลงทุน

ในการลงทุน บิล ไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูล forecast เพราะ บิล เชื่อว่า forecast ที่อยู่ในหนังสือพิมพ์ทั้งหมด ถูก discount ไปในราคาหุ้นหมดแล้ว (if it’s in the newspaper, it’s in the price)

ข้อมูลเกี่ยวกับ forecast จึงเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถช่วยให้ชนะตลาดได้ บิลมองว่ากำไรในอีก 12 เดือนข้างหน้า มักไม่ค่อยมีผลต่อราคาหุ้นในวันนี้ เพราะตลาดมัก forecast ไปล่วงหน้า 12 เดือน กำไรในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะมีผลต่อราคาหุ้น ก็ต่อเมื่อกำไรที่ออกมาผิดจาก forecast ไปมากๆเท่านั้น

เขายกตัวอย่างว่า สมมติว่า IBM ถูกคาดหมายว่าจะกำไร $5 ในอนาคตอันใกล้ แต่พอถึงเวลานั้นจริงๆ หาก IBM กลับทำกำไรได้แค่ $3 บางคนอาจคิดว่าราคาหุ้น IBM คงจะลง แต่ปรากฏว่าราคาหุ้น IBM อาจปรับเพิ่มขึ้นถึง 50% เลยก็ได้ ถ้าหากตลาดคิดต่อไปแล้วว่าในช่วงเวลาถัดจากอีก 12 เดือนออกไป IBM จะกลับมามีกำไร $7 ปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้มีให้เห็นได้บ่อยๆในตลาดหุ้น

บิล เชื่อว่า ตลาดหุ้นไม่ได้มีประสิทธิภาพในแง่ที่ว่า ราคาหุ้นสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกิจการตลอดเวลา แต่ตลาดหุ้นก็มีประสิทธิภาพสูงมากในแง่ของการซึมซับข่าวอย่างรวดเร็ว (informationally efficient)

หมายความว่า คุณไม่มีทางเอาชนะตลาดได้โดยการรู้ข่าวก่อนคนอื่น ผลกำไรส่วนเกินในตลาดหุ้นต้องมาจากการ exploit ความลำเอียงของตลาดซึ่งเป็นผลมาจาก Psychological Bias อันเป็นข้อบกพร่องของมนุษย์ ซึ่งกลไกตลาดไม่สามารถขจัดออกไปได้ (เพราะตลาดประกอบด้วยมนุษย์)

เขาจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่อง Bias ของมนุษย์มาก เพราะมองว่าคือหนทางสำคัญที่จะทำให้ชนะตลาดได้ เขายังเป็นประธาน SantaFe Institute ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกด้วย

บิลกล่าวว่า “วิธีเอาชนะตลาดนั้นมีอยู่หลายวิธี แต่วิธีที่ไม่ใช่แน่นอนคือ วิธีการลงทุนที่เหมือนกับคนส่วนใหญ่ในตลาด”


แกะรอย บิล มิลเลอร์
นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

http://www.sarut-homesite.net/2011/04/%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b8%b0%e0%b8%a3%e0%b8%ad%e0%b8%a2-%e0%b8%9a%e0%b8%b4%e0%b8%a5-%e0%b8%a1%e0%b8%b4%e0%b8%a5%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c-%e0%b8%99%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%99/

อุปนิสัยแห่งชัยชนะ ของนักลงทุน 23 ข้อ


ลองสำรวจลักษณะนิสัยนี้ดูครับ ว่าคุณเป็นนักลงทุนแบบไหน ?

นักลงทุนชั้นเซียน
นักลงทุนขี้แพ้
1
เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องรักษาทุนไว้ให้ได้ ถือเป็นหลักยึดแห่งการลงทุน
เป้าหมายเดียวคือ ทำเงินให้มากที่สุดจึงมักเสียเงินไปอยู่เสมอ
2
หลีกหนี ความเสี่ยง(อันเป็นผลมาจากอุปนิสัยแห่งชัยชนะ#1)
เชื่อว่ากำไรสูง ๆ มาจากความเสี่ยงสูง ๆ เท่านั้น
3
การสร้างปรัชญาการลงทุนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ซึ่งเป้นสิ่งที่บ่งบอกถึงบุคลิก ความสามารถ รสนิยม และเป้าหมายของตัวเอง ดังนั้น จึงไม่มีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จคนไหนที่มีปรัขญาการลงทุนเหมือนกัน
ไม่มีปรัชญาการลงทุนของตัวเอง หรืออย่างมากก็ใช้ปรัชญาของคนอื่น
4
พัฒนาและทดสอบระบบ เฉพาะตัวในการเลือกหุ้น หาจังหวะเข้าซื้อและขาย
ไม่มีระบบอะไรทั้งนั้น หรือไม่ก็เอาระบบของคนอื่นมาใช้โดยไม่ได้ทดสอบหรือปรับให้เข้ากับบุคลิกของตัวเอง (พอระบบนั้นไม่ได้ผล ก็เอาระบบใหม่มาใช้ซึ่งก็ยังคง ไม่ได้ผลอยู่นั่นเอง)
5
เชื่อว่าการกระจายการลงทุนเป็นเรื่องของพวกกระจิบกระจอก
ไม่มีความมั่นใจที่จะลงทุนมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนอะไรก็ตาม
6
เกลียดการจ่ายภาษี (และค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมต่าง ๆ) จึงหาช่องทางตามกฏหมายเพื่อลดการจ่ายภาษีให้ได้มากที่สุด
มองข้ามหรือละเลยภาระภาษี และต้นทุนในการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้น จากการลงทุน
7
ลงทุนในสิ่งที่เข้าใจเท่านั้น
ไม่ตระหนักว่า ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ตัวเองทำ คือปัจจัยที่นำพาพวกเขาไปสู่ความสำเร็จ แทบไม่ตระหนักเลยว่าโอกาส ในการทำกำไร จะอยู่เฉพาะในแวดวงของ(หรืออยู่ใกล้เคียงกับ) สิ่งที่พวกเขา มีความชำนาญเท่านั้น
8
ปฏิเสธที่จะลงทุนในสิ่งที่ ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ในการลงทุน ของตัวเอง และกล้าที่จะตอบปฏิเสธต่อสิ่งที่ไม่เกียวข้องอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ไม่มีเกณฑ์ในการลงทุนของตัวเอง หรือไปเองของคนอื่นมาใช้ ไม่สามารถปฏิเสธความโลภของตัวเองได้
9
มองหาโอกาศในการลงทุนใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ในการลงทุนของตัวเองอยู่เสมอ และเอาจริงเอาจังกับการวิจัยหาข้อมูลด้วยตัวเอง แล้วชอบที่จะฟัง เฉพาะนักลงทุนหรือนักวิเคราะห์ ผู้มีเหตุผลอันลึกซึ้งควรค่าแก่การนับถือ
มองหาโอกาส “1 ใน 1,000″ ที่จะทำให้เขาโชคดีเหมือนบุญหล่นทับ พวกเขาจึงชอบทำตาม ทีเด็ดประจำเดือนจากการฟังใครก็ตามที่ถูกยกให้เป็น ผู้เชี่ยวชาญโดยแทบไม่เคยศึกษาการลงทุนใด ๆ ด้วยตนเองก่อนที่จะลงเงินไปจริง ๆ ซึ่งการ วิจัยของพวกเขา หมายถึงการได้ทีเด็ดมาจากโบรกเกอร์ ที่ปรึกษาหรือไม่ก็หนังสือพิมพ์ฉบับเมื่อวาน
10
เมื่อเขยังไม่เจอการลงทุนที่สอดคล้องกับเกณฑ์ของตัวเอง พวกเขาก็มีความอดทนพอที่จะรอไปอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าจะเจอ
รู้สึกว่าต้องทำบางอย่างในตลาดอยู่ตลอดเวลา
11
ลงมือทันทีเมื่อตัดสินใจดีแล้ว อยู่กับการลงทุนที่ทำให้ได้รับชัยชนะ
ผัดวันประกันพรุ่ง
12
จนกว่าเหตุผลสมควรให้ขายที่คิดไว้ล่วงหน้าว่าจะอุบัติขึ้น
ไม่ค่อยเตรียมกฏเกณฑ์ในเรื่องของกำไรไว้ล่วงหน้า มักกลัวว่าผลกำไรเล็กน้อย จะกลายเป้นขาดทุน จึงรีบขายเพื่อทำเงิน ทำให้พลาดโอกาศที่จะได้กำไรมาก ๆ อยู่เสมอ
13
ทำตามระบบของตัวเองด้วยความศรัทธา
ชอบหาข้ออ้างให้ตัวเองไปเรื่อยๆ เวลาไม่อยากทำตามระบบ (แม้มีระบบอยู่) โดยมักเปลี่ยนเกณฑ์ หรือ ลดเป้าเพื่อปลอบใจตัวเองว่าฉันทำถูกแล้ว
14
ตระหนักอยู่เสมอว่า ตัวเองทำพลาดได้ให้รีบแก้ไขเมื่อความผิดพลาดนั้นปรากฏชัดความเสียหายที่เกิดขึ้นก็แค่ขาดทุนเล็กน้อย
ยังถือการลงทุนที่ผิดพลาดไปเรื่อย ๆ โดยหวังว่า จะได้ทุนคืนจึงมักขาดทุนหนักอยู่เสมอ
15
มองความผิดพลาดเป็นประสบการณ์เสมอ
ไม่เคยใช้วิธีลงทุนใด ๆ ให้นานพอ จนสามารถเรียนรู้ที่จะปรับปรุงแต่กลับมองหา ยาวิเศษในการแก้ปัญหาอยู่เสมอ
16
เมื่อประสบการณ์เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ตอนนี้ใช้เวลาน้อยลงเพื่อทำเงินได้มากขึ้น เพราะได้ ลงทุนลงแรงไปแล้ว
ไม่เคยรู่สึกว่าต้อง ลงทุนลงแรงอะไร ไม่ค่อยเรียนรู้จากประสบการณ์
17
แทบจะไม่บอกใครเลยว่าตัวเองทำอะไรอยุ่ ไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับการลงทุนของเขา
ชอบโม้เกี่ยวกับการลงทุนของตัวเองอยู่เสมอ ชอบ ทดสอบการลงทุนของตัวเองด้วยการถามความเห็นจากคนอื่น แทนที่จะดูเอาจากความเป็นจริง
18
แบ่งหน้าที่รับผิดชอบบางส่วนหรือทั้งหมดให้กับคนอื่น
เลือกที่ปรึกษาการลงทุนและผู้จัดการกองทุน ด้วยวิธีเดียวกับที่ตัดสินใจลงทุน
19
ใช้ชีวิตต่ำกว่าฐานะของตัวเองเป็นอย่างมาก
ใช้ชีวิตเหนือฐานะของตัวเอง(มีคนจำนวนมากมายเป็นเช่นนี้)
20
ทำงานที่ทำอยู่ เพราะงานนั้นทำให้กระชุ่มกระชวยและเติมเต็มชีวิตของเขา ไม่ใช่ทำเพื่อเงิน
แรงผลักดันเกิดจากเงินเท่านั้น คิดว่าการลงทุนคือทางลัดสู่ความร่ำรวย
21
ผูกพัน (และพอใจ) กับ กระบวนการในการลงทุนสามารถปฏิเสธหรือล้มเลิกการลงทุนใด ๆ ได้ง่าย ๆ
หลงรักในสิ่งที่ตัวเองได้ลงทุนไป
22
หายใจเข้าออกเป็นการลงทุนตลอด 24 ชั่วโมง
ไม่ทุ่มเทเพื่อจะบรรลุเป้าหมายในการลงทุน (แม้จะรู้ว่าเป้าหมายของตัวเองคืออะไร)
23
มีเงินของตัวเองอยู่ในสิ่งที่บริหารจัดการอยู่
การลงทุนไม่ได้ช่วยให้เขารวยขึ้นเท่าไรนัก ตรงกันข้าม สิ่งที่เขาปฏิบัติในการลงทุนมักส่งผลเสียต่อฐานะของตัวเอง เช่นการย้ายเงินส่วนอื่น ๆ อาทิ ผลกำไรจากธุรกิจ เงินเดือน เงินบำนาญ หรือโบนัสที่ต้องจ่ายให้พนักงาน มาเพื่อลงทุน (หรือชดเชยผลขาดทุน) ของตัวเอง

ที่มา: หนังสือ บัฟเฟต์-โซรอส ลงทุนถูกนิสัย ยังไงก็ชนะ โดย Mark Tier ซีเอ็ดบุ๊ค


http://gdiblog.poonprang.ws/index.php/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99/

วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556

สรุปธรรมะ จิตวิทยา และกลยุทธ์การลงทุน จาก Money Talk @ SET

เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา กระผมได้มีโอกาสไปฟังสัมมนารายการ Money Talk @ SET ในหัวข้อ ธรรมะ จิตวิทยา และกลยุทธ์การลงทุน เนื่องจากผมเห็นว่าเป็นวันศุกร์ทำให้หลายๆท่านที่ทำงานประจำไม่มีโอกาสได้ร่วมฟังสัมมนาจึงได้สรุปเนื้อหาคร่าวๆดังนี้

ธรรมะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนไหม ?
ดร.นิเวศน์ :
>>> จิตวิทยามีผลกับการลงทุน ในสมัยก่อน คนจะเชื่อกันว่านักลงทุนนั้นมีเหตุผลจึงเกิดทฤษฎี Efficient-market hypothesis (คนเชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพ)
>>> ในภายหลังมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น หุ้นตกแรงทำให้ attitude ของนักลงทุนเปลี่ยนไป
>>> หลังจากที่คนเปลี่ยนทัศนคติ นักวิชาการก็ศึกษาพฤติกรรมมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเกิดวิชาต่างๆเช่น behavior finance หรือ psychology of investing เป็นต้น

>>> ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า ธรรมะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนไหม แต่มีนักลงทุนโลกท่านหนึ่งคือ John Templeton เป็นบุคคลที่เคร่งศาสนามาก และใช้ธรรมะช่วยในการลงทุน


คุณพีรยุทธ์
>>> ในตอนแรกเลยไม่ได้ศึกษาธรรมะ พอมีเงินแล้วรู้สึกว่าโลภ ใจไม่สงบ เอาจิตใจไปผูกกับหุ้น คิดเรื่องหุ้นตลอดเวลาแม้เวลาไปเที่ยว

>>> หัวใจของการลงทุนคือปัญญา
>>> หัวใจของปัญญาคือสมาธิ
>>> หัวใจของสมาธิคือสติ
>>> หัวใจของสติคือ วิริยะซึ่งก็คือความเพียรที่จะนำเอาสติไปจดจ่อ
>>> หัวใจของวิริยะคือศรัทธา เราจะเอาสติไปจดจ่อสิ่งหนึ่งๆได้ เราต้องมีศรัทธา มีความเชื่อในสิ่งๆนั้น
>>> หัวใจของศรัทธา คือ ปัญญา
>>> เราจะเห็นว่า เป็น cycle ไปเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆแล้วมีหลายระดับ เราต้องพัฒนาครบทุกองค์ประกอบใน cycle แรกให้ได้ก่อน จึงจะสามารถพัฒนาขึ้นไปอีกหนึ่งระดับ

>>> เวลาที่หุ้นตก หลักจิตวิทยาจะศึกษาว่า ทำไมหุ้นจึงตก แต่ธรรมะจะลึกลงไปอีกขึ้นคือ ศึกษาว่าจะแก้ยังไง
>>> ให้เวลากับหลายๆอย่างให้สมดุลกัน --หุ้น, ครอบครัว, เพื่อน,.....
>>> ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา บางทีเราอาจจะให้เวลากับบางอย่างมากเกินไป แล้วเกิดความทุกข์
>>> ธรรมะสอดคล้องกับธรรมชาติ
- เวลาที่สุนัขเดินผ่าน หรือ ใบไม้ตก หากหัวใจใฝ่ธรรมก็จะศึกษาธรรมะจากตรงนั้นได้
- ใช้ชีวิตโดยไม่ฝืนธรรมชาติ
- ถ้าอยู่ในสถานที่ที่สงบมากๆ จะสามารถศึกษาธรรมะแบบลงลึกไปในใจได้
- อิสรภาพ(ทางการเงิน)ช่วยให้มีเวลาศึกษาธรรมะ


จิตวิทยากับธรรมะเกี่ยวข้องกันไหม???
คุณพรชัย
>>> บางครั้งคนติดกับดัก ซึ่งเป็นกับดักแบบไม่รู้ตัว ทำให้ไม่เลือกสิ่งที่ดีที่สุดในกับตัวเอง
>>> เราต้องมีสติ ถ้าโลภแล้วรู้ตัวอาจจะแก้ได้ แต่ถ้าไม่รู้ตัว แย่แก้ไม่ได้

คุณพีรยุทธ์
>>> การกระจายการลงทุน ไม่ยึดติดกับหุ้นตัวเดียวมากเกินไป ทำให้ใจสงบ
>>> ไม่ใช้มาร์จิน ใช้แล้วใจไม่สงบ

ดร.นิเวศน์
>>> ธรรมะอยู่ในใจผมตลอด เคยใส่จีวรไปลงทะเบียนเรียน (ฮาๆๆ)
>>> ปฎิบัติตามหลักท่านพุทธทาส ซึ่งมีหัวใจอยู่ 3 อย่าง
- ตัวเราของเรา : ถ้าใครไปยึดติดกับหุ้นมากๆจะทุกข์ ไอ้โน้นก็ของเรา แบบรำพึงในบ่วงบาป ทุกข์มาก
- ทุกอย่างเกิดจากเหตุ ไม่มีใครทราบ : ถ้าบริษัทดีจริง เดี๋ยวผลจะตามมา อาจจะช้าหน่อย อย่าไปยึดติดกับราคารายวัน
- ทางสายกลาง : อย่าสุดโต่ง เอาแต่พอดี (อย่าใช้มาร์จิน อย่าแทงตัวเดียว)
>>> สุดท้ายแล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวง อย่าไปยึดมั่นถือมั่น

คุณพรชัย
>>> คนชอบคิดไปเองว่า ถ้าตลาดไปทางไหนสักพักนึงนานพอ มันจะเป็นแบบนั้นไปตลอด (ซึ่งไม่จริง)
>>> over confident : จากการสำรวจพบว่า คน 80% จะคิดว่าตัวเองเก่งกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งจะเป็นไปได้ยังไงที่คน 80% จะเก่งกว่าค่าเฉลี่ย นี่แค่ภาวะปกติ ยิ่งภาวะตลาดกระทิง คนจะมั่นใจในตัวเองมากขึ้นไปอีก
>>> การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น : ปกติเราได้ 40% จริงๆมันก็เยอะแล้วดีใจ แต่พอเห็นคนได้ 50-60% เริ่มรู้สึกว่าตัวเองได้น้อย เครียด
>>> ช่วงตลาดบูม คนจะคิดว่าตัวเองเป็นเซียน เซียนเยอะแยะเต็มไม่หมดเลย เช่น ตอนช่วงเวลาทองบูม กูรูมาจากไหนไม่รู้เต็มไปหมด พอทองตก หายหัวหมด (ผมใช้คำนี้เอง เพื่อให้ได้อารมณ์ในการอ่าน)
>>> วางแผนล่วงหน้า โดยใช้เหตุผลในยามที่จิตสงบ เช่น เวลาที่มีคนทำเงินตก คนที่ไม่ใช่คนเก็บได้ จะบอกว่าถ้าเก็บได้จะคืน แต่พอเก็บได้จริงๆจะเริ่มไขว้เขว

ธรรมะกับจิตวิทยาสัมพันธ์กันไหม???
คุณพีรยุทธ์
>>> ธรรมะจะกว้างกว่า และเน้นไปที่กระบวนการพัฒนาให้มีสติ รู้แจ้ง แทงตลอด


หากผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ หากท่านใดต้องการเพิ่มเติมก็เพิ่มได้เลยนะครับ
อคฺคสฺส ทาตา ลภเต ปุนคฺคํ : ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมได้สิ่งที่ประเสริฐกว่า :)



http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=55475

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

ประสบการณ์การลงทุน 23 ปี ของพี่ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ ครับ


จากประสบการณ์ในการเล่นหุ้นและลงทุนมาเกือบ 23 ปี ผ่านเหตุการณ์เหนือความคาดหมายต่างๆมาหลายครั้ง หลายรูปแบบ

โดนตั้งแต่เข้ามาเล่นในปีแรก ก็คือ ซัดดัมได้นำกองทัพอิรักบุกยึดคูเวต เท่าที่จำได้ ตลาดหุ้นเปิดด้วยราคา Offer ที่ Floor เกือบทั้งกระดาน ต่อเนื่อง 3 วันติด (ตอนนั้น เพดานขึ้นลงอยู่ที่ 10%)

จากที่อ่านข่าวเกี่ยวกับหุ้น ต้องมาฟังคุณสุทธิชัย หยุ่น วิเคราะห์สงครามทุกคืน ยืดเยื้อเวลาเป็นเดือน กว่าที่กองทัพสหรัฐและสหประชาชาติจะบุกโจมตี

ก่อนที่จะเกิดสงครามใหญ่ นักวิเคราะห์ นักลงทุน นักเล่นหุ้น คาดเดาว่าเมื่อเกิดสงครามใหญ่ระหว่างอิรักกับสหรัฐที่ตะวันออกกลาง ราคาน้ำมันก็คงพุ่งขึ้นอย่างมาก และหุ้นคงตกอย่างหนัก เหมือนช่วงสงครามอิรักกับอิหร่าน

แต่วันที่เริ่มเปิดฉากสงครามจริง ราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างแรง ท่ามกลางความงงงวยของนักเล่นหุ้น แล้วก็มีเหตุผลตามมาว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ากองทัพอิรักคงต้านทานกองทัพสหรัฐไม่ไหว เมื่อสหรัฐเริ่มบุก จึงคาดว่าเหตุการณ์วิกฤตครั้งนี้จะจบลงด้วยความรวดเร็ว ซึ่งก็เป็นจริงในภายหลัง

ช่วงสงครามนั้น วันไหนมีข่าวสหรัฐได้เปรียบหุ้นก็จะขึ้น วันไหนสหรัฐเสียเปรียบหุ้นก็จะลง นักเล่นหุ้นก็จะรู้จักชื่อขีปนาวุธต่างๆ เครื่องบินรบต่างๆ

ช่วงซัดดัมบุกคูเวต ดัชนีกำลังทำสถิติสูงสุดแถวๆ 1170 จุด แทบไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ดัชนีตกต่ำสุดแถวๆ 550 จุด ก่อนที่จะเริ่มฟื้นเมื่อสหรัฐเริ่มเตรียมกองกำลัง

วิกฤตสงครามอ่าวจบได้ไม่ถึงครึ่งปี เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงของคนส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นอีก มีการจับตัวนายกชาติชายและทำการปฏิวัติรัฐประหาร ถึงแม้จะมีข่าวลือในตลาดเป็นระยะๆ จากความขัดแย้งของกองทัพกับรัฐมนตรีบางคน

หลังจากนั้น เหตุการณ์ทางการเมืองก็ครอบงำตลาดหลักทรัพย์เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาหุ้น

ข่าวความขัดแย้งระหว่าง คณะปฏิวัติรสช. กับ คณะรัฐมนตรีนายอานันท์ ปันยารชุน ข่าวการรื้อสัญญาสัมปทานโทรศัพท์ของ TA ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น True และสุดท้ายก็เกิดการประท้วงอดข้าวของ ฉลาด วรฉัตร และจำลอง ศรีเมือง บานปลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดพฤษภา

เหตุการณ์นองเลือดจบลงแบบไม่มีใครคาดคิดเช่นกัน ทุกคนพอคาดเดาได้ถึงสภาพการลงทุนในช่วงมีการประท้วงจะย่ำแย่ขนาดไหน และเมื่อมีการนองเลือด ผู้ถือหุ้นทั้งหลายย่อมเสียหายและทำใจอย่างเดียว แต่เมื่อเหตุการณ์จบลงอย่างรวดเร็ว วันที่เปิดทำการวันแรก หุ้้นก็พุ่งขึ้นทันทีอย่างไม่มีสัญญาณเตือนเช่นกัน

แต่การเมืองก็ยังมีอิทธิพลต่อสภาพตลาดเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีข่าวจะแต่งตั้งนายสมบุญ ระหงษ์เป็นนายกรัฐมนตรี หุ้นก็อึมครึม เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อประธานสภา นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เสนอชื่อนายอานันท์ เป็นนายกสมัยที่สองแทนนายสมบุญ ชนิดที่นายสมบุญแต่งตัวรอพระบรมราชโองการรอเก้อที่เดียว ตลาดหุ้นเมื่อเปิดทำการก็สดใสขึ้นอีกครั้ง

เข้าตลาดมาได้แค่ 3 ปี ทำไมถึงประสบเหตุการณ์ต่างๆมามากนัก

การเมืองในช่วงนั้นแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน หลังจากการเลือกตั้งพรรคปชป.ได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล นายชวน หลีกภัยเป็นนายก นายธารินทร์เป็นรมว.คลัง และนายศุภชัย พานิชภักดิ์เป็นรมว.พาณิชย์ มีการผ่อนกฏเกณฑ์ทางการเงินมาก

ในยุคนั้น ค่าเงินบาทจัดการแบบตระกร้าเงิน ซึ่งค่าเงินบาทค่อนข้างอิงกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ เมื่อมีการปล่อยให้มีการกู้เงินสกุลต่างประเทศได้ BIBF ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บาทสูงกว่าเงินกู้ BIBF ค่อนข้างมาก และไม่มีความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน เอกชนก็นิยมกู้เงินนอกจำนวนมาก เศรษฐกิจเฟื่องฟู ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ

มีข่าวทางการเงินมากมาย มีการจะออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ มีการออกใบอนุญาตตั้งบริษัทบริหารกองทุนรวม ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นายกิติรัตน์ ณ.ระนองเคยเป็นกรรมการผู้จัดการบลจ.วรรณ ในเครือเอกธนกิจ หรือ FIN1 อันลือลั่น และต่อมาท่านก็ได้ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2536 เป็นช่วงกระทิงที่สุดในประวัติศาสตร์ หุ้นขึ้นจากประมาณ 900 จุดไปสูงสุดที่ 1753 จุดในวันที่ 4 มกราคม 2537 เนื่องจากทาง FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งปี 2537 อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลาดหมีก็ปกคลุมตลาดหุ้นไทย ไซด์เวย์ดาวน์ไปเรื่อยๆ

และยิ่งซ้ำเติมตลาดหุ้นอย่างมาก จากตัวเลขการส่งออกที่ลดลง ในช่วงปลายปี 2539 จากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงถึง 8% ของ GDP ที่แย่อยู่แล้ว ทำให้มีการพูดถึงเรื่องการลดค่าเงินบาท มีการโจมตีค่าเงินบาทต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2540 แต่นายกขณะนั้น คือ พลเอกชวลิต รมว.คลัง และผู้ว่า ธปท. ออกมาปฏิเสธอย่างหนักแน่น นายโิอฬาล ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้ฉายาว่าโหรเศรษฐกิจก็ออกมาช่วยยืนยัน

มีนักเศรษฐศาสตร์สองท่านที่ออกมาแนะนำให้ลดค่าเงินบาท คือ อาจารย์วีรพงษ์ รามางกูร และอาจารย์อัมมา สยามวาลา

เอกชนไทยในช่วงนั้นมีการกู้เงินนอกมาแปลงเป็นเงินบาทเพื่อไปขยายกิจการ สร้างศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม เก็งกำไรที่ดิน รวมถึงเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์กันอย่างมาก ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ง่ายมากเพราะแข่งกันปล่อยสินเชื่อ บริษัทอสังหาริมทรัพย์บางรายเกณฑ์พนักงานมาจองคอนโดตัวเอง เพื่อสร้างยอด Pre Sale ปลอมๆเป็นหลักฐานในการขอสินเชื่อธนาคาร

และเมื่อถึงเช้าวันที่ 2 ก.ค. 2540 ธปท.ก็ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าตลาดหุ้นคงร่วงหนักแน่ๆ แต่ปรากฏว่าดัชนีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทส่งออก

หลังจากนั้นไทยก็ขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF ทำให้ฐานะทางการเงินที่แท้จริงของไทยถูกเปิดเผย ณ เวลานั้นไทยไม่เหลือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเลย เนื่องจากธปท.ได้นำไปต่อสู้กับกองทุนต่างชาติจนหมดแล้ว ทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดเงินอย่างมาก ค่าเงินบาทอ่อนตัวอย่างรวดเร็ว และรุนแรงจนถึง 56 บาทต่อเหรียญ ทั้งๆที่ตอนลอยตัวค่าเงินบาท มีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 28 ถึง 30 บาทเท่านั้น

ปัญหาลุกลามไปถึงสถาบันการเงิน เพราะลูกหนี้ที่กู้ยืมเงินสกุลต่างประเทศต้องประสบปัญหาหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นเท่าตัว กลายเป็นหนี้เสีย เริ่มมีข่าวประชาชนแห่ถอนเงินจากสถาบันการเงินเล็กๆ
การตัดสินใจที่ปิดสถาบันการเงินหลายสิบแห่ง ทำให้สภาพเศรษฐกิจยุ่งยากลำบากมากขึ้นไปอีก เพราะนั่นหมายถึงบริษัท ห้างร้าน ประชาชนที่มีวงเงินกู้ เงินฝากกับสถาบันการเงินที่ถูกปิดมีปัญหาขาดสภาพคล่องในทันที

โครงการคอนโดมิเนียมที่กำลังก่อสร้างก็ต้องขาดสภาพคล่องมาสร้างต่อ บริษัทส่งออกบางรายก็ขาดเงินทุนหมุนเวียนที่จะไปซื้อวัตถุดิบมาผลิต ทั้งๆที่บางแห่งมีคำสั่งซื้อมาแล้วจากต่างประเทศ พนักงานเลิกถูกเลิกจ้าง ตกงาน หนี้การค้ากลายเป็นหนี้สูญ ผู้รับเหมาเก็บเงินไม่ได้

อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารปรับตัวสูงขึ้นมากๆ และหาคนปล่อยกู้ไม่ได้ งานหลักของฝ่ายสินเชื่อจากการพิจารณาหาลูกค้ามากู้เงิน เปลี่ยนมาเป็นการประนอมหนี้ การแก้หนี้ หนี้เสียที่ทั้งเสียจริงและแกล้งเสีย

เป็นยุคของคนเคยรวย เปิดท้ายขายของ ความเสียหายเกิดกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ ทั้งปูนซีเมนต์ไทย กลุ่มซีพี กลุ่มเซ็นทรัล ลงมาจนถึงประชาชนทั่วไป ซีพีต้องสูญเสียโลตัส เซ็นทรัลต้องสูญเสีย BIGC TOP Supermarket ธนาคารหลายแห่งต้องขายให้ต่างชาติ รวมถึง ปูนซีเมนต์นครหลวง
ดัชนีหุ้นไทยไม่ต้องพูดถึง ปรับตัวลดลงอย่างหนักและต่อเนื่องจนต่ำสุดประมาณ 204 จุดช่วงปลายปี 2541

เหตุการณ์ต้มยำกุ้งในครั้งนี้ ลุกลามไปยังประเทศอินโดนีเชีย มาเลเชีย เกาหลีใต้ จบสิ้นความหวังเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย

เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น นายกชวลิตก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยพรรคปชป.ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง จากการสนับสนุนจากกลุ่มงูเห่า นายชวนกลับมาเป็นนายกฯรอบสอง บริหารประเทศจนถึงปลายปี 2543 หลังการเลือกตั้งใหม่ นายทักษิณชนะการเลือกตั้งเป็นนายกช่วงเดือนมกราคม 2544

หลังการเลือกตั้ง หุ้นไทยปรับตัวขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะสถาบันการเงินจากนโยบายแก้ไขหนี้เสียของรัฐบาล แต่ถึงเดือนกันยายน เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นอีกครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ก่อการร้ายที่อาคาร World Trade

ช่วงเวลานั้น บริษัทใหญ่ๆนิยมกู้ BIBF อย่างมาก เพราะต้นทุนดอกเบี้ยต่ำกว่าเห็นๆ ไม่มีใครเห็นความเสี่ยงของค่าเงิน ไม่มีใครซื้อ Forward หรือ SWAP ไว้เลย ถ้าไม่กู้เงินนอกต้นทุนก็สู้คู่แข่งไม่ได้



http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=55441&p=1526202#p1526202

ข้อความทั้งหมดผมเรียบเรียงมาจาก facebook ของพี่ฉัตรชัย( chatchai ) โพสเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2556

ขอขอบคุุณพี่ฉัตรชัยมากๆครับ ที่อนุญาตให้นำประสบการณ์การลงทุน มาแบ่งปันให้กับสมาชิกทุกๆท่านครับ

วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

สรุป สัมมนาหุ้นรวยได้ # พี่โจ ลูกอิสาน 24/3/56


หุ้นรวยได้กับสุดยอดกูรูนักลงทุนเน้นคุณค่า คุณอนุรักษ์ บุญแสวง
24 มีนาคม 2556 ณ ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก


ขอบคุณพี่โจ สำหรับการสละเวลา และแบ่งปันความรู้ในครั้งนี้ ขอบคุณมากๆ ครับพี่
ขอบคุณพี่บี น้องชิว และทีมงาน Thai VI LowerNorth ทุกท่าน ที่ทำให้งานนี้เกิดขึ้นครับ
หากมีข้อผิดพลาดใดๆ ในเนื้อหาที่สรุปนี้ ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ



PART 1 การวางแผนการเงิน

ความสำคัญของเงิน
ทำไมคนอยากเรียน จุฬาฯ ธรรมศาตร์ ทำไมน้องตั๊กแต่งงานกับคุณบุญชัย ทำไมในคุกมีแต่คนจน >> เงินก็ยังสำคัญ
เงินเป็นทาสที่ดีแต่เป็นนายที่เลว


บางคนพอใจ 15000 บาท/เดือน แต่บางคนพอใจ 15000 บาท/ชั่วโมง You are what you believe
(จากประสบการณ์พี่โจ คุณจะเป็นในแบบที่คุณคิด ด้วย ใจ+สมอง)


เงินเฟ้อ ศัตรูที่มองไม่เห็น
ทรัพยากรจำกัด ประชากรเพิ่ม สินค้าแพง
เงินเฟ้อ ปีละประมาณ 5% ทุก 15-16 ปี สินค้าจะแพงขึ้นเท่าตัว ข้าวราดแกงอาจจะจานละ 100 บาทในอีก 22 ปี
เงินเฟ้อ 5 % ดอกเบี้ยเงินฝาก 2% ขาดทุกเงินฝากทุกปี >> ฝากธนาคารเสี่ยงที่สุด


คนไทยอายุเฉลี่ย 74 ปี สมมุติว่า เกษียณ ที่อายุ 55 แสดงว่าต้องมีชีวิตอยู่อีก 15-20 ปีโดยไม่มีรายได้
เวลาทำงาน สมมุติว่า เริ่มทำอายุ 22-23 มีเวลาทำงาน 38 ปี แต่ต้องมีเหลือเผื่อตอนเกษียณด้วย
เงิน 1 ล้านในวันนี้ อีก 25 ปี จะมีค่าเหลือแค่ 212,000 บาท
ในอนาคต ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นมากที่สุด
โรคที่คนจนห้ามเป็น มะเร็ง เบาหวาน หลอดเลือด ไต เนื่องจากค่ารักษาสูงมาก
เงินใครว่าไม่สำคัญ บางครั้งก็ซื้อได้แม้กระทั่งความเป็นความตาย


วิถีคนยุคใหม่
ไม่แต่งงาน : ทำงาน 1 เลี้ยง 3 (ตัวเอง พ่อ แม่)
แต่งงาน เมียเป็นแม่บ้าน มีลูก 1 : ทำงาน 1 เลี้ยง 7 (ตัวเอง ลูก เมีย พ่อ แม่ พ่อเมีย แม่เมีย)
สังคมมีแนวโน้มเป็นสังคมผู้สูงอายุ


คนส่วนใหญ่ทำงานเพื่อเงิน
คนส่วนน้อย ทำงานเพื่อเงิน และให้เงินทำงาน


เงินจะทำงานได้ดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแก้ว 3 ประการ
1 เงินเริ่มต้น
2 ระยะเวลา
3 ผลตอบแทน


ไอสไตน์ บอกว่า The most powerful force in the universe is compound interest

สมการการทบต้น หรือ สมการเปลี่ยนชีวิต
A*(1+R)N
A เงินต้น
R ผลตอบแทนต่อปี
N จำนวนปีที่ลงทุน


ถ้าต้องการให้ เงิน 300,000 เป็น 100 ล้าน ทำได้ดังนี้
ฝากธนาคาร ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ใช้เวลา 294 ปี
ลงทุนหุ้น ผลตอบแทน 11% ต่อปี ใช้เวลา 56 ปี
ลงทุนหุ้น ผลตอบแทน 64% ต่อปี (พี่โจผลตอบแทนประมาณนี้) ใช้เวลา12 ปี


ผลตอบแทนแบบทบต้น จะเหมือนการเติบโตของต้นไม้ ที่เวลาแตกกิ่ง จาก 2 เป็น 4 เป็น 8 เป็น 16

ผลตอบแทนตั้งแต่ปี 2518-2554
หุ้น 60 เท่า (ถ้านับถึงปัจจุบัน น่าจะประมาณ 90 เท่า (12% ต่อปี)
พันธบัตร 24 เท่า
ฝากธนาคาร 10 เท่า (ปีหลังๆ ดอกเบี้ยต่ำ)
ทองคำ 8 เท่า
สรุปว่า หุ้นดีที่สุด แต่ผันผวนมากที่สุด


ลงทุนหุ้น อย่าเล่นหุ้น
ตลาดหุ้นไม่ใช่บ่อนถูกกฎหมาย
ตลาดหุ้น คือ แหล่งระดมทุนทำธุรกิจโดยไม่ต้องกู้ธนาคาร
คนส่วนใหญ่ดูราคาหุ้นมากกว่าดูธุรกิจ
Value Inversting คือ คำตอบ >> พี่โจบอกว่า พี่ไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น เพียงแต่พี่โจเจอแนวทางที่ถูกต้อง


อยากรวย แต่ไม่มีเวลา ไม่อยากลงแรง ทำอย่างไร
กองทุนรวม
กองทุนหุ้นระยะยาว LTF ดีที่สุด ได้ลดหย่อนภาษี และส่วนต่างราคา
พยายามเลือกกองทุนที่ใช้แนวทาง VI ดูผลงานย้อนหลัง เลือกกองทุนที่ผลงานดีๆ


ลงทุนให้นานที่สุด
อย่าเอาดอกผลออกมาใช้ระหว่างทาง มันจะไม่เกิดการทบต้น
ลงทุนในหุ้นตลอดเวลาไม่ว่าตลาดจะขึ้น ตลาดจะลง โลกจะแตก
อย่าตายเร็ว รักษาสุขภาพ


ออมก่อนรวยกว่า
เพิ่มรายได้
ลดรายจ่าย
ออมก่อนใช้ ไม่ใช่ใช้ก่อนออม (เมื่อก่อน เหลือค่อยออม แต่ปัจจุบัน แบ่งออมก่อน แล้วเหลือค่อยใช้)


ลดรายจ่าย
อะไรที่เราไม่ใช้ แล้วเราไม่ตายก็สามารถลดได้ทั้งนั้น พี่โจเล่าว่า ตอนจบใหม่ๆหาหอพัก หาหลายที่มาก มีตั้งแต่ 5000 3000 จนสุดท้ายมาได้ที่ 1600/เดือน ในห้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้า 3 อย่าง คือ หมอหุงข้าว เตารีด เครื่องเล่นซีดี


การซื้อรถ คือ การใช้งานที่เลวที่สุดของหนุ่มสาว
ไม่มีอะไรผลาญเงินมากกว่าการซื้อรถ # ปีเตอร์ ลินซ์
ค่าใช้จ่ายของรถอาจจะมากถึง 12,000 บาท/เดือน
อาจมีทางเลือกอื่น เช่น รถมือสอง รถเมล์ รถไฟฟ้า


บ้าน สินทรัพย์ที่แพงที่สุด เวลาผ่อน ดอกเบี้ยรวม ราคาจะแพงกว่าราคาบ้านเสียอีก
บางทีเช่า ยังดีกว่าซื้อแล้วผ่อน
ดีที่สุด อย่ามีบ้าน อยู่บ้านเมีย บ้านพ่อแม่ ^^


บัตรเครดิต อย่าใช้ ดอกเบี้ย 18% ต่อปี โหดที่สุด

ประกันชีวิตซื้อแบบจ่ายแล้วไม่ได้คืน อย่าซื้อแบบสะสมทรัพย์ (ฝากเงิน)
สมมุติ จ่ายเบี้ยประกันสะสมทรัพย์ 100,000 ได้คืน 150,000 ในเวลา 25 ปี
บริษัทประกันนำไปลงทุนได้ผลตอบแทนปีละ 5 % ได้เงิน 339,000
แต่ถ้าเรานำเงิน 100,000 ไปลงทุนเองในตลาดหุ้น ได้ผลตอบแทนปีละ 10 % จะได้เงิน 1,083,000
(เสียไปเปล่าๆ 108300 – 150000)


บันไดการใช้ชีวิตการเงิน
นักลงทุน เจ้าของกิจการ 15%
พันธบัตร 4%
เงินฝาก 2%
ผ่อนรถ - 9%
บัตรเครดิต -18%


เราถูกเพราะเหตุผลเราถูกไม่ใช่เพราะคนส่วนใหญ่ทำกัน
ชิวิตเริ่มต้นด้วยการผ่อนจะไม่ได้โงหัวตลอดชีวิต


สรุป ทำงานประจำเพื่อหาเงินออม + ลงทุนตลาดหุ้นแบบเน้นคุณค่า คือ คำตอบ


PART2 คำถาม เจาะเรื่องการลงทุนหุ้น

1 ประเมินสถานการณ์ช่วงนี้อย่างไร ณ 24/3/56
ไม่สามารถเดาตลาดได้ ทำนายไม่ได้หรอกว่า หุ้นจะขึ้น หุ้นจะลง


2 AEC ส่งผลอย่างไรต่อตลาดหุ้นหรือไม่
ประเด็นนี้ยังเลื่อนลอย จับต้องไม่ได้ ปัจจุบัน ธุรกิจก็มีการลงทุน มีการแข่งขันระหว่างประเทศอยู่แล้ว แต่ถ้าเปิด AEC อาจจะสะดวกขึ้นง่ายขึ้น


3 ตลาดไทยตอนนี้ ณ 24/3/56 ร้อนแรงไปไหม
จริงๆ ร้อนแรงมา 4-5 ปีแล้ว การลงทุนให้ดูเป็นรายตัว set ค่อนข้างแพง พี่โจไม่สนใจดัชนี เน้นรายตัว ความผันผวนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องปกติ จะหวังว่าหุ้นจะขี้นขาเดียวเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นต้องมีความรู้การลงทุนที่ถูกต้อง


4 เลือกหุ้นดูอะไรบ้าง มีปัจจัยอะไรบ้างที่ใช้พิจารณา
ราคาหุ้นเคลื่อนไหวตามกำไร ดังนั้นพี่โจจะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีกำไรเติบโตสูงๆ เท่านั้น เจ้ามือตัวจริง คือ กำไร เราต้องประเมิน วิเคราะห์ ตัวอย่างเช่น SF พี่โจทราบจากการคลิ๊กดูเวปบริษัท ดูการประชุมผู้ถือหุ้น แล้วพบว่า
บริษัทจะเปิดเมกะบางนา และจะมีการเปลี่ยนนโยบายการทำบัญชี ทำให้กำไรจะเพิ่มขึ้น ก็ทยอยรับเรื่อยๆ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีคนสนใจมาก พี่โจ อาศัยความขยัน พลิกหินทุกก้อน จึงพบ ตอนนั้นก็ประเมินมูลค่าได้ประมาณ 6 บาท ก็เริ่มทยอยรับประมาณ 3.2 บาท


5 แก่นของ VI
1 หุ้นคือธุรกิจ ไม่ใช่ราคาขึ้นลงรายวัน ซึ่งจะเป็นการแยก VI ออกจากลงทุนแนวอื่น เช่น ช่วงหุ้นตก กิจการยังขายของได้ ยังขยายสาขาได้ ก็ไม่น่ากังวล
2 รู้มูลค่าของสิ่งที่เราจะซื้อ ตลาดหุ้นไม่ได้มีป้ายบอกราคา เราต้องประเมิน ส่วนใหญ่พี่โจจะใช้วิธี PE * eps
3 จะซื้อเมื้อมีส่วนลดมากเท่านั้น (มี MOS)
4 แยกตัวเองออกจากนายตลาดให้ได้ นายตลาดประกอบด้วยคนส่วนมาก มีอารมณ์ขึ้นลง ควรใช้ประโยชน์จากนายตลาด


6 PE ที่เหมาะสมคิดอย่างไร
หลักๆ เทียบกับ SET เช่น cpall มีอำนาจต่อรองสูงในทุกๆ ด้านก็ควรมี PE มากกว่า SET (ให้พรีเมี่ยม) บางบริษัทที่กำไรไม่แน่นอน ก็ให้ค่า PE ต่ำกว่า SET


7 เลือกหุ้น TOP-DOWN หรือ BOTTOM-UP
พี่โจชอบ bottom up บริษัทที่ดี จะดีด้วยตัวมันเอง ไม่ว่า แนวโน้มภายนอกจะเป็นอย่างไร


8 วิธีดูหุ้นฟื้นตัวดูอย่างไร
ดูยาก ถ้าดูได้ถูก รวยมหาศาล แต่ถ้าดูผิดจะแย่มาก เช่น SSI อย่าไปยุ่ง พี่โจแชร์ประสบการณ์เจอหุ้น KAMART เดิมขายเครื่องใช้ไฟฟ้าขาดทุน แต่เริ่มเปลี่ยนธุรกิจมาขายเครื่องสำอาง เริ่มมีกำไร และเห็นผู้บริหารซื้อหุ้นจำนวนมาก เลยเริ่มสนใจ


9 หุ้นเติบโตดูอย่างไร หาสัญญาณเติบโตจากอะไร
หุ้นเติบโตจะดูง่าย เช่น HMPRO CPALL เห็นจากการขยายสาขา แผนงานต่างๆ ขยายกำลังการผลิต แต่ต้องซื้อในราคาที่เหมาะสม
หุ้นวัฎจักรยากที่สุด หุ้นฟื้นตัวยากรองลงมา หุ้นเติบโตดูง่ายที่สุด


10 ณ เวลานี้เลือกหุ้นอย่างไรดี
ไม่ว่าเวลาไหนๆ หลักการไม่เปลี่ยน ซื้อหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น PE ต่ำยิ่งดี ระวังหุ้น PE สูงๆ ตลาดลงมีโอกาสลงแรง มีปันผล มีการเติบโต หลีกเลี่ยงหุ้นร้อน เช่น ค้าปลีกบางตัว พลังงานทางเลือกบางตัว


11 พี่โจมีหุ้นในพอร์ตกี่ตัว ถือเงินสดไหม
ตอนนี้ถือ 20 ตัว ตัวหลัก 10 ตัว แต่แนะนำว่า ถ้าพอร์ตไม่ถึง 10 ล้าน อย่าถือน้อยกว่า 3 ตัว อย่าถือตัวเดียว ประมาณ 5 ตัวกำลังดี ติดตามง่าย ตอนนี้ถือเงินสด 15 % มีประสบการณ์จาก subprime ช่วงนั้นไม่มีเงินสด เหมือนถูกมัดมือมัดเท้า สัดส่วนเงินสดมากน้อยขึ้นอยู่กับเวลาไหนควรโลภ ควรกลัว ส่วน watch list มีประมาณ 200 ตัว


12 สัญญาณวิกฤต มีอะไรบอกไหม
กมร ไม่รู้ว่าจะเป็นระลอกคลื่นหรือพายุร้าย หน้าที่เราคือ เลือกบริษัทที่แข็งแกร่ง เติบโต มี MOS เหมือนเลือกเรือออกทะเล การทำนายตลาดทำได้ยาก โดยเฉพาะที่จะทำนายได้ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นต้องมีคนรวยกว่า วอเรน บัฟเฟตต์


13 แชร์ประสบการณ์ช่วง Subprime
ตอนต้นปีกำไร 66% พอเกิด Subprime กลางปีกำไรลดเหลือ 3% ตอนนั้นใช้มาร์จิ้นด้วยประมาณ 10% มาร์จิ้นด้านดีก็มี แต่ผลเสียมหาศาล คนใช้มาร์จิ้นอาจจะมองโลกแง่ดีเกินไป แต่ควรระวังคำว่า ดวงแตก และช่วงนั้นไม่มีเงินสดเหลือ


14 เวลาเกิดวิกฤต จังหวะรับจะดูตอนไหน
ดูยาก ถูกยังไงก็ไม่กล้าซื้อ แต่เมื่อใดที่ P/BV เท่ากับ 1 น่าซื้อ เพราะจะเท่ากับปี 40 และ subprime ที่จะเด้ง ณ จุดนั้น ปัจจุบัน ประมาณ 2.5-2.6 เริ่มแพง เพราะ เฉลี่ยประมาณ 1.9 (ตอนนี้ควรกลัวมากกว่ากล้า)


15 ถือยาว VS เล่นรอบ
เล่นรอบ ระวังโดนรอบเล่น เช่น cpall ขึ้นแล้วพักแล้วขึ้นต่อ ถ้าบริษัทเติบโตเรื่อยๆ โอกาสขายแทบไม่มี บางครั้งประเมินมูลค่าว่าแพงแล้ว แต่กิจการก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ตอบปรับราคาตามขึ้นเรื่อยๆ เป็น dynamic


16 มองราคาตลาดมากๆ หวั่นไหว ทำอย่างไรดี
อย่าไปจ้องราคามาก เน้นดูกิจการ เช่น โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไปเทคโอเวอร์โรงพยาบาลอื่นๆ มีผลต่อ eps ไหม


17 โบรคไหนวิเคราะห์ดี
พี่โจชอบ Asia plus ภัทร กรุงศรี


18 VI ขายหุ้นตอนไหน
ขายเมื่อเกินมูลค่าที่ควรจะเป็น ขายเมื่อคิดผิด ขายเมื่อเจอตัวอื่นที่ดีกว่า


19 VI ดูกราฟไหม
พี่โจดูราคาบ้าง แต่ไม่ได้ใช้เทคนิคในการซื้อขาย ระวังจะเกิดความสับสน VI มองหุ้นเป็นธุรกิจ เทคนิคมองราคา ถ้าเอามาผสมธาตุไฟอาจแตกได้ เช่น สัปดาห์ที่ผ่านมา เทคนิคบอกขาย VI บอกซื้อ สับสนมาก
ตัวอย่างนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จแบบ VI เห็นมากว่า มีจำนวนมากกว่า ทำไมเราไม่เลือกเส้นทางที่คนส่วนใหญ่พิสูจน์ว่าสำเร็จ แล้วนำไปปฎิบัติ


20 หุ้นประกันภัยดูอย่างไร
รับเงินลูกค้ามาก่อน แล้วนำไปลงทุน บริษัทไหนลงทุนเก่งจะดี ประกันที่ขายผ่านแบงค์ก็ดี ได้เปรียบเรื่องจำนวนสาขา


21 ลงทุนหุ้นจีน A share vs H Share
แบบ A share ต่างชาติลงทุนยาก มีตกแต่งบัญชี แบบ H share อยู่ที่ตลาดฮ่องกง ราคาหุ้นอาจแพงกว่านิดหน่อย แต่เรื่องบัญชีดูดีกว่า


22 BTS vs BTSGIF
หุ้นสามัญโอกาสทำกำไรมากกว่า แต่โอกาสขาดทุนก็เยอะกว่า


http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=55411