สวัสดี

สวัสดีทุกท่านครับ เราจะเป็นสถานที่ๆรวบรวมบทความน่าสนใจที่สร้างมุมมองที่สดใหม่ในการลงทุน เพื่อลับความคมของการลงทุนให้เฉียบ คม เพื่อสร้างพอร์ตโพลิโอไปสู่เส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงิน และหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านครับ

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

ประสบการณ์การลงทุน 23 ปี ของพี่ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ ครับ


จากประสบการณ์ในการเล่นหุ้นและลงทุนมาเกือบ 23 ปี ผ่านเหตุการณ์เหนือความคาดหมายต่างๆมาหลายครั้ง หลายรูปแบบ

โดนตั้งแต่เข้ามาเล่นในปีแรก ก็คือ ซัดดัมได้นำกองทัพอิรักบุกยึดคูเวต เท่าที่จำได้ ตลาดหุ้นเปิดด้วยราคา Offer ที่ Floor เกือบทั้งกระดาน ต่อเนื่อง 3 วันติด (ตอนนั้น เพดานขึ้นลงอยู่ที่ 10%)

จากที่อ่านข่าวเกี่ยวกับหุ้น ต้องมาฟังคุณสุทธิชัย หยุ่น วิเคราะห์สงครามทุกคืน ยืดเยื้อเวลาเป็นเดือน กว่าที่กองทัพสหรัฐและสหประชาชาติจะบุกโจมตี

ก่อนที่จะเกิดสงครามใหญ่ นักวิเคราะห์ นักลงทุน นักเล่นหุ้น คาดเดาว่าเมื่อเกิดสงครามใหญ่ระหว่างอิรักกับสหรัฐที่ตะวันออกกลาง ราคาน้ำมันก็คงพุ่งขึ้นอย่างมาก และหุ้นคงตกอย่างหนัก เหมือนช่วงสงครามอิรักกับอิหร่าน

แต่วันที่เริ่มเปิดฉากสงครามจริง ราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างแรง ท่ามกลางความงงงวยของนักเล่นหุ้น แล้วก็มีเหตุผลตามมาว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ากองทัพอิรักคงต้านทานกองทัพสหรัฐไม่ไหว เมื่อสหรัฐเริ่มบุก จึงคาดว่าเหตุการณ์วิกฤตครั้งนี้จะจบลงด้วยความรวดเร็ว ซึ่งก็เป็นจริงในภายหลัง

ช่วงสงครามนั้น วันไหนมีข่าวสหรัฐได้เปรียบหุ้นก็จะขึ้น วันไหนสหรัฐเสียเปรียบหุ้นก็จะลง นักเล่นหุ้นก็จะรู้จักชื่อขีปนาวุธต่างๆ เครื่องบินรบต่างๆ

ช่วงซัดดัมบุกคูเวต ดัชนีกำลังทำสถิติสูงสุดแถวๆ 1170 จุด แทบไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ดัชนีตกต่ำสุดแถวๆ 550 จุด ก่อนที่จะเริ่มฟื้นเมื่อสหรัฐเริ่มเตรียมกองกำลัง

วิกฤตสงครามอ่าวจบได้ไม่ถึงครึ่งปี เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงของคนส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นอีก มีการจับตัวนายกชาติชายและทำการปฏิวัติรัฐประหาร ถึงแม้จะมีข่าวลือในตลาดเป็นระยะๆ จากความขัดแย้งของกองทัพกับรัฐมนตรีบางคน

หลังจากนั้น เหตุการณ์ทางการเมืองก็ครอบงำตลาดหลักทรัพย์เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาหุ้น

ข่าวความขัดแย้งระหว่าง คณะปฏิวัติรสช. กับ คณะรัฐมนตรีนายอานันท์ ปันยารชุน ข่าวการรื้อสัญญาสัมปทานโทรศัพท์ของ TA ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น True และสุดท้ายก็เกิดการประท้วงอดข้าวของ ฉลาด วรฉัตร และจำลอง ศรีเมือง บานปลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดพฤษภา

เหตุการณ์นองเลือดจบลงแบบไม่มีใครคาดคิดเช่นกัน ทุกคนพอคาดเดาได้ถึงสภาพการลงทุนในช่วงมีการประท้วงจะย่ำแย่ขนาดไหน และเมื่อมีการนองเลือด ผู้ถือหุ้นทั้งหลายย่อมเสียหายและทำใจอย่างเดียว แต่เมื่อเหตุการณ์จบลงอย่างรวดเร็ว วันที่เปิดทำการวันแรก หุ้้นก็พุ่งขึ้นทันทีอย่างไม่มีสัญญาณเตือนเช่นกัน

แต่การเมืองก็ยังมีอิทธิพลต่อสภาพตลาดเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีข่าวจะแต่งตั้งนายสมบุญ ระหงษ์เป็นนายกรัฐมนตรี หุ้นก็อึมครึม เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อประธานสภา นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เสนอชื่อนายอานันท์ เป็นนายกสมัยที่สองแทนนายสมบุญ ชนิดที่นายสมบุญแต่งตัวรอพระบรมราชโองการรอเก้อที่เดียว ตลาดหุ้นเมื่อเปิดทำการก็สดใสขึ้นอีกครั้ง

เข้าตลาดมาได้แค่ 3 ปี ทำไมถึงประสบเหตุการณ์ต่างๆมามากนัก

การเมืองในช่วงนั้นแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน หลังจากการเลือกตั้งพรรคปชป.ได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล นายชวน หลีกภัยเป็นนายก นายธารินทร์เป็นรมว.คลัง และนายศุภชัย พานิชภักดิ์เป็นรมว.พาณิชย์ มีการผ่อนกฏเกณฑ์ทางการเงินมาก

ในยุคนั้น ค่าเงินบาทจัดการแบบตระกร้าเงิน ซึ่งค่าเงินบาทค่อนข้างอิงกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ เมื่อมีการปล่อยให้มีการกู้เงินสกุลต่างประเทศได้ BIBF ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บาทสูงกว่าเงินกู้ BIBF ค่อนข้างมาก และไม่มีความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน เอกชนก็นิยมกู้เงินนอกจำนวนมาก เศรษฐกิจเฟื่องฟู ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ

มีข่าวทางการเงินมากมาย มีการจะออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ มีการออกใบอนุญาตตั้งบริษัทบริหารกองทุนรวม ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นายกิติรัตน์ ณ.ระนองเคยเป็นกรรมการผู้จัดการบลจ.วรรณ ในเครือเอกธนกิจ หรือ FIN1 อันลือลั่น และต่อมาท่านก็ได้ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2536 เป็นช่วงกระทิงที่สุดในประวัติศาสตร์ หุ้นขึ้นจากประมาณ 900 จุดไปสูงสุดที่ 1753 จุดในวันที่ 4 มกราคม 2537 เนื่องจากทาง FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งปี 2537 อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลาดหมีก็ปกคลุมตลาดหุ้นไทย ไซด์เวย์ดาวน์ไปเรื่อยๆ

และยิ่งซ้ำเติมตลาดหุ้นอย่างมาก จากตัวเลขการส่งออกที่ลดลง ในช่วงปลายปี 2539 จากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงถึง 8% ของ GDP ที่แย่อยู่แล้ว ทำให้มีการพูดถึงเรื่องการลดค่าเงินบาท มีการโจมตีค่าเงินบาทต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2540 แต่นายกขณะนั้น คือ พลเอกชวลิต รมว.คลัง และผู้ว่า ธปท. ออกมาปฏิเสธอย่างหนักแน่น นายโิอฬาล ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้ฉายาว่าโหรเศรษฐกิจก็ออกมาช่วยยืนยัน

มีนักเศรษฐศาสตร์สองท่านที่ออกมาแนะนำให้ลดค่าเงินบาท คือ อาจารย์วีรพงษ์ รามางกูร และอาจารย์อัมมา สยามวาลา

เอกชนไทยในช่วงนั้นมีการกู้เงินนอกมาแปลงเป็นเงินบาทเพื่อไปขยายกิจการ สร้างศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม เก็งกำไรที่ดิน รวมถึงเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์กันอย่างมาก ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ง่ายมากเพราะแข่งกันปล่อยสินเชื่อ บริษัทอสังหาริมทรัพย์บางรายเกณฑ์พนักงานมาจองคอนโดตัวเอง เพื่อสร้างยอด Pre Sale ปลอมๆเป็นหลักฐานในการขอสินเชื่อธนาคาร

และเมื่อถึงเช้าวันที่ 2 ก.ค. 2540 ธปท.ก็ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าตลาดหุ้นคงร่วงหนักแน่ๆ แต่ปรากฏว่าดัชนีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทส่งออก

หลังจากนั้นไทยก็ขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF ทำให้ฐานะทางการเงินที่แท้จริงของไทยถูกเปิดเผย ณ เวลานั้นไทยไม่เหลือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเลย เนื่องจากธปท.ได้นำไปต่อสู้กับกองทุนต่างชาติจนหมดแล้ว ทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดเงินอย่างมาก ค่าเงินบาทอ่อนตัวอย่างรวดเร็ว และรุนแรงจนถึง 56 บาทต่อเหรียญ ทั้งๆที่ตอนลอยตัวค่าเงินบาท มีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 28 ถึง 30 บาทเท่านั้น

ปัญหาลุกลามไปถึงสถาบันการเงิน เพราะลูกหนี้ที่กู้ยืมเงินสกุลต่างประเทศต้องประสบปัญหาหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นเท่าตัว กลายเป็นหนี้เสีย เริ่มมีข่าวประชาชนแห่ถอนเงินจากสถาบันการเงินเล็กๆ
การตัดสินใจที่ปิดสถาบันการเงินหลายสิบแห่ง ทำให้สภาพเศรษฐกิจยุ่งยากลำบากมากขึ้นไปอีก เพราะนั่นหมายถึงบริษัท ห้างร้าน ประชาชนที่มีวงเงินกู้ เงินฝากกับสถาบันการเงินที่ถูกปิดมีปัญหาขาดสภาพคล่องในทันที

โครงการคอนโดมิเนียมที่กำลังก่อสร้างก็ต้องขาดสภาพคล่องมาสร้างต่อ บริษัทส่งออกบางรายก็ขาดเงินทุนหมุนเวียนที่จะไปซื้อวัตถุดิบมาผลิต ทั้งๆที่บางแห่งมีคำสั่งซื้อมาแล้วจากต่างประเทศ พนักงานเลิกถูกเลิกจ้าง ตกงาน หนี้การค้ากลายเป็นหนี้สูญ ผู้รับเหมาเก็บเงินไม่ได้

อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารปรับตัวสูงขึ้นมากๆ และหาคนปล่อยกู้ไม่ได้ งานหลักของฝ่ายสินเชื่อจากการพิจารณาหาลูกค้ามากู้เงิน เปลี่ยนมาเป็นการประนอมหนี้ การแก้หนี้ หนี้เสียที่ทั้งเสียจริงและแกล้งเสีย

เป็นยุคของคนเคยรวย เปิดท้ายขายของ ความเสียหายเกิดกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ ทั้งปูนซีเมนต์ไทย กลุ่มซีพี กลุ่มเซ็นทรัล ลงมาจนถึงประชาชนทั่วไป ซีพีต้องสูญเสียโลตัส เซ็นทรัลต้องสูญเสีย BIGC TOP Supermarket ธนาคารหลายแห่งต้องขายให้ต่างชาติ รวมถึง ปูนซีเมนต์นครหลวง
ดัชนีหุ้นไทยไม่ต้องพูดถึง ปรับตัวลดลงอย่างหนักและต่อเนื่องจนต่ำสุดประมาณ 204 จุดช่วงปลายปี 2541

เหตุการณ์ต้มยำกุ้งในครั้งนี้ ลุกลามไปยังประเทศอินโดนีเชีย มาเลเชีย เกาหลีใต้ จบสิ้นความหวังเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย

เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น นายกชวลิตก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยพรรคปชป.ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง จากการสนับสนุนจากกลุ่มงูเห่า นายชวนกลับมาเป็นนายกฯรอบสอง บริหารประเทศจนถึงปลายปี 2543 หลังการเลือกตั้งใหม่ นายทักษิณชนะการเลือกตั้งเป็นนายกช่วงเดือนมกราคม 2544

หลังการเลือกตั้ง หุ้นไทยปรับตัวขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะสถาบันการเงินจากนโยบายแก้ไขหนี้เสียของรัฐบาล แต่ถึงเดือนกันยายน เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นอีกครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ก่อการร้ายที่อาคาร World Trade

ช่วงเวลานั้น บริษัทใหญ่ๆนิยมกู้ BIBF อย่างมาก เพราะต้นทุนดอกเบี้ยต่ำกว่าเห็นๆ ไม่มีใครเห็นความเสี่ยงของค่าเงิน ไม่มีใครซื้อ Forward หรือ SWAP ไว้เลย ถ้าไม่กู้เงินนอกต้นทุนก็สู้คู่แข่งไม่ได้



http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=55441&p=1526202#p1526202

ข้อความทั้งหมดผมเรียบเรียงมาจาก facebook ของพี่ฉัตรชัย( chatchai ) โพสเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2556

ขอขอบคุุณพี่ฉัตรชัยมากๆครับ ที่อนุญาตให้นำประสบการณ์การลงทุน มาแบ่งปันให้กับสมาชิกทุกๆท่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น