สวัสดี

สวัสดีทุกท่านครับ เราจะเป็นสถานที่ๆรวบรวมบทความน่าสนใจที่สร้างมุมมองที่สดใหม่ในการลงทุน เพื่อลับความคมของการลงทุนให้เฉียบ คม เพื่อสร้างพอร์ตโพลิโอไปสู่เส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงิน และหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านครับ

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทฤษฎีการแกะรอยจากฟิชเชอร์ถึงบัฟเฟตต์/โดย Nevercry.boy

 
 
 
“อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียวแต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” ผมขอเริ่มต้นบทความผมด้วยสุภาษิตไทยบทนี้ กับภาวะของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน ภาวะตลาดหุ้นไทยในกระแสวีไอ นักลงทุนรุ่นใหม่มาแรงครับ คนเล่นหุ้นหน้าใหม่เมื่อเริ่มเล่นหุ้นก็อยากเป็นวีไอ ไว ไว เสือเฒ่าเก๋าเกมส์ก็สวมวิญญาณวีไอ กันก็มี นักเก็งกำไรปล่อยข่าวก็แอบใส่หน้ากากวีไอ ก็ไม่ใช่น้อย เม่าน้อยกับคำถามว่า พี่ NB ครับ เราควรใช้ พีบี พีอี พีเอสอาร์ พีโน่น พีนี่ พีนั่น มาวิเคราะห์ดีมั๊ยครับ? จะใช้ตัวอะไรก่อน อะไรมากดี น้อยดีมั๊ย จะใช้สัมพันธ์กันอย่างไร จะยังไงดีครับพี่?

พี่ครับ พี่ครับ! สัปดาห์ที่แล้วผมวิเคราะห์ได้หุ้นมาตัวนึง พีอี ต่ำผมเลยซื้อไว้ใส่พอร์ต สัปดาห์นี้ได้หุ้นใหม่มาอีกตัวครับพี่ แหมตัวนี้พีอีต่ำกว่าเดิมอีก ผมเลยรีบขายตัวเดิมเลยครับพี่มาใส่ตัวใหม่แบบนี้ผมเป็นวีไอแล้วใช่มั๊ยครับพี่ แล้ว พีบี, พีอีจี แล้วเอ่อ พีอาร์อาร์ พีเอสอาร์ แล้วต้องดูประกอบกันยังไงครับพี่ แหม ผมใจร้อนอยากเป็นวีไอเร็ว ๆ อยากรวยเร็ว ๆ

เอ่อ น้องครับใจเย็น ทั้งนี้เมื่อประเทศของเรามีเศรษฐกิจดีขึ้น ตลาดหุ้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีคนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น นักลงทุนแนววีไอ ก็มากขึ้น ทฤษฎีวีไอ โดนตีความกันไปหลากหลาย ทั้งเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ แล้วนักเก็งกำไรหายไปไหนครับ? นักเก็งกำไรหายไปจากตลาดหุ้นแล้วหรือ ไม่เชิงหรอกครับ นักเล่นม้าเมื่อสนามม้าเปิดพวกเค้าก็พร้อมจะมาเจอกัน นักเล่นหุ้นก็เช่นเดียวกัน วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยเปรียบเปรยไว้ว่า

นักแทงม้านั้นแยกออกเป็นสองกลุ่ม ความเร็วและสายพันธ์ นักเล่นที่พนันบนความเร็วต้องการตัวเลขในการวิเคราะห์ เค้าจะจดจ่อกับทุกอนูของตัวเลขเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายความเร็วสูงสุดที่ม้า ตัวนั้นจะทำได้ในการแข่งขัน บนเงื่อนไขของพื้นสนาม น้ำหนักที่ม้าต้องแบก ฯลฯ ส่วนนักพนันที่เล่นบนสายพันธ์ม้านั้นแทบจะไม่สนใจตัวเลขเลย กลับดูหมิ่นด้วยซ้ำ เค้ามักจะกล่าวซ้ำ ๆ ว่า “สิ่งที่ผมต้องการรู้ก็คือสายพันธ์ม้าและคู่แข่งในอดีตของมันเท่านั้นเอง”

น่าแปลกที่หลักการทั้งสองสิ่งนี้มีเช่นเดียวกันในโลกแห่งการลงทุน เช่นเดียวกันเราก็มีนักลงทุนที่มุ่งเน้นในเชิงตัวเลข และมุ่งเน้นในเชิงคุณภาพของธุรกิจ เฉกเช่นปรัชญาการลงทุนของ ฟิลลิป ฟิชเชอร์

นักวิเคราะห์ตัวเลขกล่าวว่า “ซื้อหุ้นราคาถูกและวัดผลงานของมันด้วยดัชนีต่าง ๆ เช่น พีอี พีบี ยิลด์ ฯลฯ”

ส่วนนักวิเคราะห์เชิงคุณภาพกล่าวว่า “ซื้อหุ้นในกิจการที่ดีที่สุด, ประกอบด้วยผู้บริหารที่เก่งที่สุด และก็ไม่ต้องไปกังวลกับตัวเลขต่าง ๆ”

น่ามีความสุขครับ, ทาง ไปสวรรค์มีหลายทาง ทักษะและมุมมองของผู้มีประสบการณ์นำทางไปสู่ความสำเร็จ วอร์เรนโชคดีครับที่ได้ผู้ชี้ทางผู้ยิ่งใหญ่ที่นำพาเค้าไปสู่ผลสำเร็จมหาศาล อันเนื่องมาจากการชี้นำของฟิชเชอร์ หลังจากอ่านหนังสือของ ฟิล ฟิชเชอร์ Common Stocks and Uncommon Profits และอีกเล่ม Paths to Wealth Through Common Stocks ในช่วงต้นปี 1960 วอร์เรนก็ตั้งใจจะเข้าไปพบ ฟิล ฟิชเชอร์ ให้ได้

เมื่อ วอร์เรนพบเค้าครั้งแรก เค้าค้นพบว่า ฟิล มีความละม้ายคล้ายกับอาจารย์เบน แกรม อย่างมาก ฟิชเชอร์เป็นคนถ่อมตัว ใจกว้าง และก็เชี่ยวชาญในการสอนคน วอร์เรนเรียนรู้เรื่องทฤษฎีการแกะรอย (Scuttlebutt) มาจากจุดนี้

"เราต้องออกไปเสาะหาข้อเท็จจริงของธุรกิจ จากการสืบค้น พูดคุยกับแหล่งข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น คู่แข่ง, ซัพพลายเออร์, ลูกค้า เพื่อที่จะสืบเสาะดูว่าการดำเนินงานของบริษัท แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร?"

ความเข้าใจอันละเอียดถี่ถ้วนซึ่ง ฟิล ฟิชเชอร์ สอนให้วอร์เรนประกอบกับการวิเคราะห์เชิงปริมาณที่ เค้าเรียนรู้มาจาก อาจารย์เบน ช่วยให้ยึดมั่นในเส้นทางแห่งการลงทุนด้วยสติปัญญา และนั่นเป็นเส้นทางแห่งความสำเร็จของนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่คนนี้

“ลงทุนด้วยสติปัญญา” คำ ๆ นี้เป็นคำสำคัญ เมื่อวอร์เรน บัฟเฟตต์เลือกบริษัทลงทุนเค้าให้น้ำหนักกับตัวเลขหรือคุณภาพกิจการมากกว่า กัน วอร์เรนพูดไว้ละเอียดครับเมื่อครั้งเค้าไปบรรยายที่ University of Florida Business School ช่วงวันที่ 15 ตุลาคม 2540

“อย่า! ซื้อเพียงเพราะตัวเลขมันบอกคุณให้ซื้อ” ถึงแม้ตัวเลขมันจะบอกคุณให้ซื้อและคุณซื้อมามันก็ยังไม่นับว่าเป็นการลงทุนที่ดี จงซื้อเพราะคุณมั่นใจในสินค้า ผลิตภัณฑ์ของเค้า ไม่ใช่เพียงเพราะมันถูก ครั้งหนึ่งวอร์เรนก็เคยซื้อบริษัททำกังหันลม (windmill) เป็นการลงทุนแบบก้นบุหรี่ เค้าซื้อมันมาราคาถูกมากในราคาเพียงหนึ่งในสามของเงินทุนหมุนเวียน และแน่นอนมันทำกำไร แต่มันก็แค่ครั้งเดียวและมันไม่เกิดขึ้นอีก มันไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ ชีวิตวอร์เรน บัฟเฟตต์ผ่านเรื่องพวกนี้มาหมดแล้วบริษัทรถรางเค้าก็ซื้อมาแล้ว

กลับกันในเชิงคุณภาพ วอร์เรนแทบจะสามารถตีแตกเกือบทุกครั้งแค่เพียงแค่พูดคุยโทรศัพท์เพียงห้านาที หรือสิบนาที !

“But if you don’t know enough to know about the business instantly, you won’t know enough in a month or in two months.”

ถ้ามันเป็นธุรกิจที่ยากเย็น ฟังคำอธิบายสั้น ๆ แล้วคุณไม่เข้าใจ ต่อให้คุณใช้เวลาอีกเดือนหรือสองเดือนคุณก็ไม่เข้าใจมันอยู่ดี คุณต้องมองตัวเองให้ออกว่าสิ่งใดเรารู้สิ่งใดเราไม่รู้ สิ่งใดเราเข้าใจสิ่งใดเราไม่เข้าใจ นั่นคือหัวใจสำคัญของการลงทุน แต่กว่า วอร์เรน จะมาถึงจุดนี้ได้มันไม่ใช่ง่าย

“ลงทุนภายใต้ขอบเขตความรู้ของตนเอง” มันไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะรู้มากรู้น้อยเป็นพหูสูตรมาจากไหน คุณไม่จำเป็นต้องเป็นวอร์เรน บัฟเฟตต์คนที่สอง คุณไม่ต้องเป็น ดร.นิเวศน์ คนที่สอง มันไม่สำคัญ มันสำคัญที่ว่าสิ่งใดที่คุณไม่รู้ไม่เข้าคุณอย่าไปยุ่ง ไม่จำเป็นต้องรู้จักหุ้นหมดทุกตัวในตลาดสมมติคุณรู้แค่ 30 ตัวในตลาดรู้แบบรู้จริงนะ คุณก็โอเคแล้วครับ เมื่อคุณรู้จักธุรกิจนั้น ๆ เป็นอย่างดีคุณก็ใช้เวลาในการทำความเข้าใจน้อยลง จุดนี้ทำให้ผมนึกไปถึงสุภาษิตไทยที่ว่า “อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียวแต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” แต่กว่าเราจะ “รู้กระจ่าง” ในธุรกิจนั้น ๆ เราต้องทำอย่างไร วอร์เรน เองเค้าก็ไม่ได้เก่งมาแต่เกิดหรือเริ่มลงทุน เค้าทำอย่างไร?

วอร์เรนทำงานหนักอย่างมากเพื่อให้รู้ลึกในบริษัทที่เค้าลงทุนและเค้าใช้ Scuttlebutt Approach หรือทฤษฎีการแกะรอยครับ

I would go out and talk to customers, suppliers, and maybe ex-employees in some cases. Everybody. Everytime I was interested in an industry, say it was coal, I would go around and see every coal company.

วอร์เรนจะไปพูดคุยกับลูกค้าของบริษัท ซัพพลายเออร์ของบริษัท และพนักงานเก่า คือ ทุกคน ทุกที่ นั่นหล่ะครับ ถ้าเค้าสนใจในธุรกิจเหมืองเค้าก็จะไปดูบริษัทเหมืองทุกๆ ที่ เค้าจะไปคุยกับซีอีโอว่า “ถ้าคุณจะซื้อสต๊อกของบริษัทเหมืองบริษัทอื่นที่ไม่ใช่คุณ คุณคิดว่าใครน่าสนใจ?” ทำไมครับ? คุณเก็บข้อมูลเหล่านี้ รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ทีละนิดทีละน้อย และคุณก็จะได้เรียนรู้เติมเต็มภาพของธุรกิจจนคุณเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมา

แล้วคู่แข่งล่ะ ถ้าคุณมีปืนอยู่ในมือและคุณยิงใครทิ้งก็ได้โดยไม่ผิดกฎหมายคุณอยากซัดใคร? ทำไม? ลองถามซีอีโอ ด้วยประโยคเหล่านี้และคุณจะได้รับคำตอบที่เต็มไปด้วยความลึกซึ้งของคนที่อยู่ในธุรกิจจริง ๆ เชื่อผมเถอะความรู้จะติดตัวเราไปจนวันตาย เมื่อเราเรียนรู้สิ่งใดแล้วสิ่งนั้นก็จะเป็นองค์ความรู้ให้เราต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ นั่นทำให้คุณได้เรียนรู้ รู้ลึก รู้จริง “รู้กระจ่าง”

น้องไวไว อยากเป็นวีไอ ซื้อปั๊บขึ้นปุ๊บกำไรเลยเดือนหน้า หรืออีกสองเดือน ค่อยหาตัวใหม่ให้พีอีต่ำ ๆ ไว้ ผมคิดว่านั่นยังไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องสักเท่าไรครับ นักลงทุนรุ่นใหม่ควรใช้เวลาให้ลึกกับธุรกิจ อ่านรายงานประจำปี 56-1 ฟัง Oppday ประชุมผู้ถือหุ้น คุยกับ IR หาข้อมูลจากเน็ต จากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม เปรียบเทียบงบการเงินของลูกค้า คู่แข่ง หลาย ๆ บริษัท ถามตัวเองว่าทำไม เค้ากำไรมากกว่า ทำไมคู่แข่งมาร์เก็ตแชร์มากกว่า ผู้บริหารให้สัมภาษณ์อะไรไว้บ้าง นั่นเป็นเส้นทางวีไอที่ถูกต้อง และจะทำให้พวกเราประสบความสำเร็จบนเส้นทางนี้ได้ยั่งยืนกว่าครับ
 
 
 

ความเชื่อที่อันตรายของ VI

โลกในมุมมองของ Value Investor 22 กันยายน 55

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ความเชื่อที่อันตรายของ VI

VI จำนวนไม่น้อยที่ผมได้พบเห็นโดยเฉพาะตามเว็บไซ้ต์ต่างๆ นั้น มักมีศรัทธาหรือความเชื่อที่ยึดมั่นใน “แนวทาง VI” อย่างมั่นคงจนผมรู้สึกว่ามัน “มากเกินไป” ส่วนหนึ่งของความเชื่อนี้อาจจะเป็นเพราะ “ความสำเร็จของ VI” ทั้งในระดับโลกอย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ และปีเตอร์ ลินช์ และ “เซียน VI ไทย” จำนวนมากในช่วงเร็วๆ นี้ ที่ได้เสนอแนวทางแบบ VI อย่างกว้างขวางและภาคภูมิจนทำให้แนวทางอื่นในเรื่องของการลงทุนกลายเป็นเรื่องที่อาจจะไร้สาระหรือเรื่องตลกในสายตาของ VI ที่ติดตามศึกษาทฤษฎี VI อย่างเข้มข้นและมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก แน่นอน ความเชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งดีที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจไม่ให้เราไขว้เขวไปจากแนวทางที่ถูกต้อง แต่ถ้าเรายึดมั่นเกินไป บางครั้งมันก็อาจจะเป็นอันตรายเหมือนกัน เพราะเราจะไม่มีความยืดหยุ่น และถ้าเกิดความผิดพลาด ความเสียหายก็จะมากกว่าปกติ ลองมาดูว่าความเชื่อหรือศรัทธาเรื่องไหนที่ผมเห็นว่าเราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

เรื่องแรกก็คือ เชื่อว่าเราสามารถคำนวณ Intrinsic Value หรือมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้อย่างแม่นยำและมีความผิดพลาดอย่างมากก็ในระดับทศนิยม และดังนั้น ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่านั้นมากทำให้เรามี Margin of Safety (MOS) มากพอ เราก็สามารถที่จะซื้อหรือถือหุ้นไว้ไม่ว่าสถานการณ์ตลาดจะเป็นอย่างไร หลายคนพร้อมที่จะ “ตีแตก” ถ้า MOS สูงลิ่ว

ประเด็นก็คือ มูลค่าที่แท้จริงนั้น ถ้าจะคำนวณจริงๆ จะต้องมีสมมุติฐานสำคัญก็คือ เราต้องรู้ว่ากำไรของบริษัทในอนาคตระยะยาวมากจะเป็นอย่างไร เงินสดหรือปันผลที่เราจะได้นั้นเท่าไรและจะโตอย่างไร นอกจากนั้นยังต้องรู้ถึงต้นทุนของเงินทุนในตลาดด้วย ทั้งหมดนั้น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงผิดจากที่เราคาดไว้แม้แต่เพียงเล็กน้อย มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย หลายคนอาจจะใช้สูตรง่ายๆ แบบหยาบๆ เช่น ใช้ค่า PE ว่ากิจการควรมีค่า PE 15 เท่า ดังนั้น ถ้ารู้ว่ากำไรในปีนี้จะเป็นเท่าไร ก็หามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้ แต่นี่ไม่ใช่มูลค่าที่แท้จริงแน่ๆ ยกเว้นว่ากำไรของบริษัทในปีต่อๆไปอีกยาวนานในอนาคตไม่ลดลงและค่า PE ยังเป็น 15 เท่า ไม่ใช่ 7 เท่า ในความคิดของผม มูลค่าที่แท้จริงที่เราคิดไว้ น่าจะเป็นช่วงที่ค่อนข้างกว้างไม่ใช่เลขตัวเดียว ว่าที่จริงผมมักจะสนใจเฉพาะหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่ต่ำที่สุดที่ผมคำนวณได้ ส่วนมูลค่าหุ้นที่สูงที่สุดนั้น ผมแทบไม่สนใจที่จะคำนวณ เหนือสิ่งอื่นใด มูลค่าหุ้นสามารถเติบโตและลดลงได้ตามเวลาที่ผ่านไป

เรื่องที่สองก็คือ VI จำนวนมากไม่เชื่อในเรื่อง Efficient Market หรือตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ พวกเขาคิดว่า “นายตลาด” ผิดพลาดเสมอ นายตลาดเป็นคนที่ “คุ้มดีคุ้มร้าย” ตามที่เบน เกรแฮม บอกไว้ ดังนั้น เขาให้ราคาหุ้นที่ไม่มีเหตุผล บางครั้งราคาก็สูงเกินพื้นฐานมาก บางครั้งก็ต่ำกว่าพื้นฐาน ดังนั้น เราสามารถฉกฉวยประโยชน์โดยการซื้อหุ้นที่มีราคา “ถูกมากๆ” หรือขายหุ้นที่มีราคา “แพงมากๆ” ได้

ผมเองก็เชื่อว่าในหุ้นบางตัวและในตลาดหุ้นบางสถานการณ์ มีหุ้นที่มีราคาแตกต่างจากมูลค่าพื้นฐานจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นของบริษัทที่ถูกละเลยไม่มีคนสนใจและมักเป็นหุ้นขนาดเล็ก แต่ในหุ้นที่มีขนาดใหญ่หรือหุ้นที่มีคนซื้อขายและติดตามมากๆ หรือเป็นหุ้น “ยอดนิยม” ราคาของหุ้นก็อาจจะสะท้อนพื้นฐานได้ใกล้เคียง พูดง่ายๆ ราคาหุ้นโดยเฉลี่ยมีความเหมาะสม ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำกำไรได้สูงมากๆ แบบง่ายๆได้ พึงจำไว้ว่า “นายตลาด” ก็คือคนทุกคนที่มาเล่นหุ้นตัวที่เรากำลังเล่นอยู่ ในบางครั้ง เราอาจจะเห็นว่าคนอื่นนั้น รู้น้อยกว่าเรา จำนวนมากเล่นหุ้นโดยไม่เคยวิเคราะห์ด้วยซ้ำไป แต่ก็อย่าลืมว่ามีคนอื่นอีกหลายคนที่อาจจะรู้มากกว่าเรา และที่สำคัญ พวกเขามี “น้ำหนัก” หรือเม็ดเงินสูงมาก ดังนั้น ถ้าคำนวณแล้ว เราอาจจะมีฝีมือหรือความรู้ในตัวหุ้นนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ถ่วงน้ำหนักแล้ว ผลก็คือ ที่คิดว่าเรา “แน่” นั้น ที่จริงเราเป็น “หมู” อย่าลืมว่าแม้แต่ เบน เกรแฮม เอง ก่อนตายก็ยังยอมรับว่า ตลาดหุ้นอเมริกานั้นได้พัฒนาจน “มีประสิทธิภาพ” ไม่เหมือนสมัยที่เขาเสนอแนวการลงทุนแบบ VI ย้อนหลังไปหลายสิบปี

เรื่องที่สามก็คือ ความเชื่อที่ว่า ถ้าต้องการทำผลตอบแทนการลงทุนที่สูงต่อเนื่องยาวนานได้นั้นเราจำเป็นที่จะต้องซื้อหุ้นที่ Undervalue หรือหุ้นถูก และขายหุ้นที่ Overvalue หรือ Fair value หรือหุ้นที่แพงหรือเต็มมูลค่าแล้ว ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้ได้ผลตอบแทนอาจจะปีละ 30-40% หรืออาจจะมากกว่านั้นได้ในระยะยาวอาจจะเป็นสิบๆปี ด้วยวิธีนี้ เราอาจจะถือหุ้นแต่ละตัวโดยเฉลี่ยไม่เกินหนึ่งปี การที่ได้ผลตอบแทนสูงแบบนี้ได้ก็เป็นเพราะว่าหุ้นแต่ละตัวนั้น เมื่อมีราคาถูกเป็นหุ้น VI ก็จะมีโอกาสที่จะมี Rerate หรือการปรับราคาใหม่ คือจะมีช่วงที่หุ้นจะวิ่งขึ้นไปเร็วๆ บางทีเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัวเมื่อมีคนมาพบและ “แห่” เข้ามาซื้อ ทำให้ราคาขึ้นไปแรงมาก ทำให้หุ้นอาจจะไม่ Undervalue ต่อไป ดังนั้นเราต้องขายทำกำไรแล้วไปหาหุ้นตัวอื่น พวกเขาคิดว่า การซื้อแล้วถือไว้ยาวนานนั้น จะไม่มีทางทำกำไรได้มาก เพราะในระยะยาวแล้ว แม้แต่หุ้นระดับ “ซุปเปอร์สต็อก” เอง ก็มักมีกำไรเติบโตไม่เกิน 15-20% ต่อปี ซึ่งราคาหุ้นก็จะวิ่งไปตามผลกำไรคือปีละประมาณไม่เกิน 15-20%

เหตุที่ผมคิดว่าความเชื่อนี้อันตรายอยู่ที่ว่ามันทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเป็น Trader หรือเป็นนักเก็งกำไรแทนที่จะเป็นนักลงทุน จริงอยู่ ในระยะสั้นๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นบูม การเทรดหุ้นอาจจะทำกำไรได้ดีปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์ติดต่อกันบางที 3-4 ปี แต่ในระยะยาวโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดไม่ได้เอื้ออำนวยแล้ว การทำกำไรแบบนั้นก็เป็นเรื่องที่ยากมาก การที่ถือหุ้นที่เป็นบริษัทยอดเยี่ยมและทำกำไรปีละ 15-20% ต่อเนื่องยาวนานจะปลอดภัยกว่า และผมเชื่อว่าโดยรวมแล้วน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าด้วย

สุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ ความเชื่อที่ว่า หุ้นที่มีค่า PE และ PB ต่ำมาก คือหุ้นที่มีราคาถูกและเป็นหุ้น VI แน่นอนโดยไม่ได้พิจารณาลึกซึ้งถึงพื้นฐานของกิจการ อันตรายของความเชื่อนี้ก็คือ ประการแรก ค่า B หรือมูลค่าทางบัญชีของบริษัทนั้น เป็นมูลค่าอดีตที่บริษัทลงทุนไปในรูปของการซื้อทรัพย์สินเช่น โรงงาน อุปกรณ์ แต่มูลค่าที่แท้จริงหรือราคาตลาดของทรัพย์สินนั้นอาจจะน้อยกว่ามาก ตัวอย่างก็คือมูลค่าของโรงงานและเครื่องจักรสิ่งทอของบริษัทเบิร์กไชร์ของบัฟเฟตต์นั้น ตอนที่ต้องปิดกิจการ ราคาขายก็เท่ากับเศษเหล็ก ดังนั้น PB ที่ต่ำอย่างต่อเนื่องจึงอาจจะไม่มีความหมายเลย ต่อมาเมื่อค่า PE ลดลงต่ำมากเช่นกัน แต่นี่ก็อาจจะเป็นเพราะกำไรในปีนั้นดีขึ้นมากเนื่องจากภาวะของอุตสาหกรรม เช่น ราคาสินค้าหรือวัตถุดิบที่เป็นโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นหรือลงชั่วคราวที่ทำให้กำไรของบริษัทกระโดดขึ้นเพียงปีหรือสองปี ซึ่งหลังจากนั้นค่า PE ก็อาจจะกลับมาสูงอย่างเดิม ดังนั้น ค่า PE ที่เห็นว่าต่ำก็ไม่มีความหมายเช่นเดียวกัน สรุปแล้ว แม้ว่าหุ้นจะมีทั้งค่า PE และ PB ที่ต่ำมาก มันก็ไม่ได้เป็นหุ้นถูก และถ้าเราเข้าไปลงทุนและคิดว่าเรากำลังเจอหุ้นที่เป็นสุดยอด VI เราก็อาจจะขาดทุนได้มากอย่างไม่น่าเชื่อได้



http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=53435

VI สายดำ

โลกในมุมมองของ Value Investor 7 กันยายน 54
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การฝึกฝนและการปฏิบัติตนเพื่อให้เป็น VI ที่มีความสามารถสูงและมี “จิตวิญญาณ” ของ VI นั้น ผมคิดว่าก็คงเหมือนกับการฝึกฝนและปฏิบัติตนในเรื่องอื่น ๆ เช่น การเป็นศิลปินนักวาดภาพเหมือนกัน นั่นคือ เขาจะต้องมีเป้าหมายที่จะต้องมุ่งไปให้ถึง ในกรณีของศิลปินนั้น การที่จะเป็นศิลปินที่โด่งดังได้นั้น เขาจะต้องมีความสามารถในการวาดภาพ การเขียนภาพและการลงสีนั้นจะต้องยอดเยี่ยม พวกเขาจะต้องสามารถควบคุมมือให้เขียนสิ่งที่ออกมาตามต้องการอย่างละเอียดลออที่สุดได้ นอกจากนั้น เขาจะต้องวาดภาพที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองหรือเรียกว่าเป็นสไตล์ที่ไม่เหมือนใครมิฉะนั้นแล้วเขาก็คงเป็นได้แค่ศิลปินธรรมดา ๆ นอกจากการวาดภาพแล้ว ถ้าลองดูเรื่องของศิลปะอย่างอื่นเช่น คาราเต้ นั้น การฝึกที่จะทำให้เก่งจนได้ “สายดำ” นั้น นอกจากการฝึกฝนทางร่างกายแล้ว ผมคิดว่าเรื่องของจิตใจก็ต้องมีการฝึกเช่นกัน และถ้าคนเคยอ่านหนังสือกำลังภายในจีนก็จะพบว่า “เซียน” นั้น นอกจากการฝึกวิทยายุทธ์แล้ว พวกเขายังต้องฝึกใจและประพฤติปฏิบัติตนอีกหลายอย่างเพื่อให้สำเร็จเป็นเซียนได้
ในเรื่องของการลงทุนแบบ VI นั้น ผมคิดว่ามีประเด็นใหญ่ ๆ 3 เรื่องที่ต้องฝึกฝนเพื่อให้สำเร็จเป็น VI ที่เก่งกาจหรือเรียกให้เท่ ๆ ว่าเป็น “VI สายดำ” ประเด็นแรกก็คือ เรื่องของปรัชญาและหลักการสำคัญในการลงทุน เรื่องที่สองคือการฝึกฝนในด้านของจิตใจหรืออารมณ์เมื่อประสบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบกับการลงทุน และเรื่องสุดท้ายก็คือ เรื่องของการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับการเป็น VI
ปรัชญาและหลักการการลงทุนที่สำคัญที่ผมคิดว่า VI จะต้องมุ่งไปให้ถึงก็คือ ข้อแรก เขาควรจะลงทุนเฉพาะในสิ่งที่เขารู้จักดี หรือที่บัฟเฟตต์เรียกว่าลงทุนภายใน Circle Of Competence อะไรที่เราไม่รู้ เราไม่ควรลงทุน โดยนัยนี้ เราควรจะมีหุ้นที่เราจะลงทุนได้ไม่มากนักถ้าเราไม่ใช่ “มืออาชีพ” จริง ๆ ข้อสองก็คือ ถ้าจะได้ “สายดำ” VI จะต้องมี “สไตล์” การลงทุนที่ตนเองยึดถือ การลงทุนแบบ “เล่นได้ทุกรูปแบบ” นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากทีเดียว เพราะความชำนาญและการฝึกฝนของเรานั้นมีจำกัด ไม่เหมือน ปีเตอร์ ลินช์ ที่บริหารกองทุนขนาดมโหฬารและใช้เวลากับมันสูงมาก ดังนั้น สำหรับ VI ทั่วไปแล้ว เราควรจะเลือกหาสไตล์ที่มีโอกาสชนะสูงแล้วฝึกฝนและปฏิบัติจนเก่งและยึดถือมันเป็นหลักในการลงทุน การมีสไตล์นั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถลงทุนหุ้นแนวอื่นได้ เพียงแต่พอร์ตส่วนใหญ่นั้น น่าจะเป็นการลงทุนในสไตล์ที่ตนเองใช้อยู่
นักลงทุน VI ที่จะได้สายดำนั้น ผมคิดว่าเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องฝึกฝนในด้านของการบริหารความเสี่ยงของการลงทุน การทำอย่างนั้นได้ดีนั้น ผมคิดว่าควรเริ่มต้นจากทัศนะคติในการวิเคราะห์เพื่อเลือกหุ้นลงทุน ซึ่งผมคิดว่าควรเน้นไปที่การมอง “ด้านลบ” ก่อน “ด้านบวก” นั่นคือ เวลาคิดจะซื้อหุ้นนั้น ต้องคิดว่า “อย่าขาดทุน” มากกว่าที่จะหวังผลเลิศว่าจะได้กำไรเท่าไร นอกจากนั้น VI ควรจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของการ “หายนะ” ไว้เสมอ นี่คือความเสี่ยงที่อาจจะมีน้อยมากจนบางครั้งเราลืมที่จะคิดถึง สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ “Unthinkable” หรือสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อาจจะเกิดขึ้นได้มากกว่าที่เราคิด แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พอร์ตการลงทุนของเราควรที่จะพร้อมรับกับสถานการณ์อย่างนั้นได้ ซึ่งในเรื่องของความเสี่ยงนี้ เลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องใช้หลักของการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม นั่นคือ ไม่มากหรือน้อยเกินไป
ประเด็นที่สองของการที่จะเป็น VI สายดำได้นั้นก็คือเรื่องของอารมณ์และจิตใจ ผมคิดว่าเรื่องสำคัญที่สุดของการเป็น VI ก็คือ ความ “ใจเย็น” นี่คือคุณสมบัติที่สำคัญที่จะทำให้เราสามารถคิดได้อย่างมีเหตุผลไม่หุนหันพลันแล่น ไม่ตกใจกลัวและรีบ “ทิ้งหุ้น” เวลามีเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบกับตลาดหุ้น เช่นเดียวกับที่ไม่รีบร้อนที่จะ “แย่งซื้อหุ้น” ในยามที่ตลาดหรือหุ้นกำลังร้อนแรง นอกจากความใจเย็นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าต้องฝึกและปฏิบัติก็คือ ความศรัทธายึดมั่นต่อหลักการและแนวทางที่ถูกต้องและที่เราเลือกแล้ว นั่นก็คือ อย่าถูกทำให้ “ไขว้เขว” จากเส้นทางที่มีการพิสูจน์มายาวนานโดยกูรูระดับโลกโดยเหตุการณ์หรือสภาวการณ์บางช่วงบางตอนที่อาจชี้ไปในอีกแนวทางหนึ่ง จงจำไว้ว่าไม่มีแนวทางไหนที่ดีและชนะตลอดเวลา ในบางช่วงเวลานั้น แม้แต่กลยุทธ์หรือวิธีการที่แย่ที่สุดในระยะยาวก็สามารถทำผลงานที่ยอดเยี่ยมกว่าวิธีอื่น ๆ ทั้งหมดได้ โดยนัยยะนี้ VI ที่จะเป็นสายดำได้นั้นจะต้องเรียนรู้และยอมรับว่า บ่อยครั้งหรือบ่อยช่วงเวลา พอร์ตของเราอาจจะแพ้คนอื่นที่อาจจะไม่ได้มีสายรัดสีอะไรเลยก็ได้ แต่ในระยะยาวแล้ว VI สายดำก็จะทำผลตอบแทนได้ดีกว่า
อีกข้อหนึ่งในเรื่องของอารมณ์จิตใจที่ควรจะต้องฝึกฝนก็คือ ต้องเรียนรู้ความผิดพลาด และเมื่อรู้แล้วต้องรีบแก้ไข อย่าไปยึดมั่นแบบหัวชนฝา นี่ไม่ใช่เรื่องที่แย้งกับคำว่าศรัทธาและไม่เปลี่ยนแปลง เพราะคำว่าผิดพลาดในที่นี้เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ เป็นเรื่องของการปฏิบัติ เป็นเรื่องของข้อมูล หรือเป็นเรื่องของความเข้าใจในคุณสมบัติของหุ้นหรือกิจการที่ผิดพลาด ไม่ใช่เรื่องของหลักการหรือแนวทางที่เป็นเรื่องที่มีการพิสูจน์มายาวนานและไม่เปลี่ยนแปลงง่าย
ประเด็นสุดท้ายก็คือ การใช้ชีวิตของ VI สายดำ เรื่องนี้ผมไม่รู้ว่าการใช้ชีวิตนำไปสู่การเป็น VI สายดำหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่บังเอิญว่า VI ที่เป็นสายดำมักใช้ชีวิตแบบนี้ แต่จากการสังเกตนักลงทุนระดับเซียนหรือระดับโลกหลาย ๆ คน ผมพบว่าคนเหล่านี้มักใช้ชีวิตแบบ “พอเพียง” หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ ใช้ชีวิตต่ำกว่าฐานะของตนเอง คนเหล่านี้มักจะไม่ได้มีความสุขจากการใช้เงินเพื่อตนเอง สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากนิสัยส่วนตัวที่ไม่ได้นิยมความหรูหราทางด้านวัตถุ พวกเขามีความสุขจากกิจกรรมง่าย ๆ ที่ไม่ต้องใช้เงิน และที่สำคัญก็คือ มีความสุขจากการลงทุนหรือหาเงินมากกว่าการใช้เงิน ถ้ามองถึงพื้นเพ หลายคนไม่ใช่คนที่ที่บ้านมีฐานะร่ำรวยมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การใช้ชีวิตต่ำกว่าฐานะของตนเองนั้น น่าจะมีส่วนช่วยให้ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเร็วกว่าโดยเฉพาะในช่วงที่ VI ยังมีเงินน้อย ดังนั้น ถ้าฝึกนิสัยนี้ไว้ตั้งแต่เริ่มแรกที่ลงทุน ผมคิดว่าน่าจะช่วยให้เราเป็น VI สายดำเร็วขึ้น
ถ้าจะให้ผมเรียงลำดับความสำคัญของกลุ่มกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของการลงทุนที่จะทำให้เราได้เป็น VI สายดำ ผมคงให้ความสำคัญอันดับแรกกับเรื่องของปรัชญาและหลักการลงทุน ถ้าคิดเป็นคะแนนก็คงจะได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ในส่วนของจิตใจและอารมณ์น่าจะเป็นซัก 40% และในส่วนของการใช้ชีวิตน่าจะเป็นซัก 10% อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าปัจจัยทั้งสามอย่างนั้นมีความเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน ด้านใดด้านหนึ่งน้อยเกินไปก็จะทำให้ด้านอื่นแย่ลงไปด้วย ดังนั้น การฝึกฝนและการปฏิบัติจึงละเลยเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปไม่ได้



http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=49523

สินทรัพย์ไม่มีตัวตน

สินทรัพย์ไม่มีตัวตน


โดยส่วนใหญ่นักลงทุนมักให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ตัวเลขในงบการเงินทั้งในอดีตและปัจจุบันก่อนจะตัดสินใจลงทุน แต่นักลงทุนหลายคนไม่เข้ารายการ “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” หรือ Intangible Assets ที่แสดงอยู่ในงบแสดงฐานะการเงินว่าหมายความถึงอะไรและมีความสำคัญอย่างไร หากนักลงทุนเข้าใจรายการสินทรัพย์ไม่มีตัวตนมากขึ้น นักลงทุนอาจสามารถวิเคราะห์งบการเงินได้ดีขึ้น

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) กันก่อน สินทรัพย์ไม่มีตัวตน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง ไม่สามารถมองเห็นหรือสัมผัสได้ แต่สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ สินทรัพย์ไม่มีตัวตนมักเกี่ยวข้องกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ด้านเทคนิค การออกแบบ การนำระบบหรือขั้นตอนใหม่มาใช้ สิทธิตามใบอนุญาตต่างๆ สินทรัพย์ทางปัญญา ความรู้ด้านการตลาด และเครื่องหมายการค้า เป็นต้น
สินทรัพย์ไม่มีตัวตนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการให้ประโยชน์ทราบได้แน่นอน (ระยะเวลาของสิทธิ์ที่ได้รับลดลงตามสัดส่วนของมูลค่าที่ลดลง เช่น ลิขสิทธิ์ Copyrights สิทธิบัตร Patents) และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน (สินทรัพย์ไม่เสื่อมค่าลงตามเวลา แต่อาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องหมายการค้า Trademark ซึ่งบริษัทไม่ต้องทำการตัดจำหน่าย)

สินทรัพย์ไม่มีตัวตนจัดเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนในงบแสดงฐานะการเงิน ทั้งนี้เนื่องจากสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือหมุนเวียนไปตามการดำเนินงานของธุรกิจเหมือนเงินสดหรือลูกหนี้การค้า

การรับรู้มูลค่าของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจะเป็นไปตามแหล่งที่มาของสินทรัพย์นั้นๆ หากเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่กำเนิดจากกิจกรรมภายนอกบริษัท มูลค่าของสินทรัพย์จะเป็นไปตามราคาที่ตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือทางบัญชีจะเรียกว่า มูลค่ายุติธรรม ยกตัวอย่างเช่น หากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนมาจากการซื้อ ราคาซื้อจะถือเป็นมูลค่าของสินทรัพย์นั้นๆ หากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนมาจากการรวมธุรกิจ มูลค่าของสินทรัพย์จะขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ณ วันที่ซื้อธุรกิจ หากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้นได้มาจากการอุดหนุนของรัฐบาล มูลค่าของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจะบันทึกด้วยมูลค่ายุติธรรมหรือจำนวนเงินที่ระบุให้จ่ายเพื่อให้ได้มาซื่งสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้น แต่ถ้าหากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้นๆ ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับสินทรัพย์อื่น มูลค่าของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจะขึ้นอยู่กับมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่นำไปแลก

สำหรับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกิดขึ้นภายในบริษัท เช่น รายชื่อลูกค้า ชื่อสินค้า การวิจัยและพัฒนา ต้องตัดเป็นค่าใช้จ่ายในงวดที่กิด ยกเว้นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกิดขึ้นในขั้นตอนของการพัฒนาหากเข้าเงื่อนไขการรับรู้รายการและสามารถก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแก่บริษัทในอนาคต

หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการให้ประโยชน์ทราบได้แน่นอน แท้จริงแล้วไม่แตกต่างไปจากวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์เท่าใดนัก กล่าวคือ เมื่อบริษัทรับรู้สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (ที่มีอายุการใช้งานจำกัด) เป็นสินทรัพย์ในงบแสดงฐานะการเงิน บริษัทจะสามารถวัดมูลของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนโดยใช้วิธีราคาทุนหรือราคาที่ตีใหม่ หักค่าตัดจำหน่ายสะสมและค่าเผื่อการด้อยค่า

แต่สำหรับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่อายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน บริษัทจะไม่ตัดจำหน่ายสินทรัพย์นั้น แต่จะต้องพิจารณาการด้อยค่าให้เหมาะสม หากพบว่าสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเกิดการด้อยค่า บริษัทต้องตัดบัญชีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนทันที


เครดิตคุณ lazozy http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=51673

หุ้นกับสงคราม

โลกในมุมมองของ Value Investor 15 กันยายน 55
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
หุ้นกับสงคราม

เวลาผมวิเคราะห์หาหุ้นเพื่อลงทุนนั้น ผมมักจะคิดถึงเรื่องของสงคราม เหตุผลก็คือ ผมต้องการหาบริษัทที่จะเติบโตไปได้ในระยะยาว และบริษัทที่จะรุ่งเรืองเฟื่องฟูไปได้ยาวนานนั้น จะต้องเป็นบริษัทที่ “ชนะ” ในการแข่งขันทางธุรกิจในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่บริษัททำอยู่ การแข่งขัน หรือที่ผมอยากจะเรียกให้มันใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้นก็คือ การ “ต่อสู้” ทางธุรกิจนั้น มักจะมีความเข้มข้นสูงมาก เป็นลักษณะที่ “เอาเป็นเอาตาย” ไม่มีใครปราณีใคร “ผู้แพ้” นั้น บ่อยครั้งก็ล้มหายตายจากออกจากธุรกิจไปเลย ดังนั้น ถ้าเปรียบเทียบไปแล้วก็คล้าย ๆ กับการสงครามที่มีการสู้รบกันรุนแรง ผู้ชนะจะเป็นผู้ยึดครองและได้ทรัพยากรไว้ในครอบครอง เช่นเดียวกับบริษัทที่เป็นผู้ชนะก็จะได้ลูกค้าได้ยอดขายและทำกำไรได้มากซึ่งก็จะทำให้หุ้นมีค่ามหาศาล
กฎของการรบและสงครามของ คาร์ล วอน คลอสวิตซ์ “บิดาแห่งการสงคราม” นั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจได้และผมก็ใช้อยู่เสมอ ลองมาดูกันว่าเวลาวิเคราะห์การแข่งขันของธุรกิจแต่ละอย่างผมทำอย่างไร?
กฎข้อแรกของสงครามที่ผมจะเริ่มก็คือ ในการรบนั้น เราจะต้องกำหนดหรือมองดูว่า สนามรบอยู่ที่ไหน ใครยึดชัยภูมิไหนอยู่ อุปนิสัยของแม่ทัพแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร เราจะต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนถึงจะรู้ว่าใครได้เปรียบและใครอยู่ในชัยภูมิที่เสียเปรียบ และพอจะคาดได้ว่ากลยุทธ์ในการศึกจะเป็นอย่างไร และสุดท้ายใครน่าจะเป็นฝ่ายชนะ ในทำนองเดียวกัน ในเรื่องของธุรกิจนั้น ผมก็จะต้อง “ขีดวง” ให้ชัดเจนก่อนว่า “สนามรบ” อยู่ที่ไหน นั่นก็คือ ตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์คืออะไร ใครเป็นลูกค้าเช่น เป็นคนรายได้สูงหรือรายได้ต่ำ หรือเป็นเด็กหรือเป็นผู้หญิง หรืออยู่ในอาณาบริเวณไหน เป็นต้น ต่อจากนั้น ผมก็จะมาดูว่าบริษัทไหนยึด “ชัยภูมิ” ไหนอยู่และชัยภูมินั้นได้เปรียบหรือเสียเปรียบ คำว่าชัยภูมินั้น ในทางธุรกิจก็คือ มันอยู่ที่จุดไหน “ในใจ” ของผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าของบริษัท ชัยภูมิที่ได้เปรียบและแข็งแกร่งเหมือนกับอยู่บนภูเขาในสงครามก็เช่น เป็นบริษัทที่เป็น “อันดับหนึ่ง” หรือสินค้าของบริษัทนั้น “หรูที่สุด” หรือ บริษัทหรือร้านของบริษัทมีสินค้า “ครบที่สุด” ในที่เดียว เป็นต้น
ในการวิเคราะห์เรื่องสนามรบและการรบนั้น เราต้องดูว่ากลยุทธ์ของแต่ละบริษัทนั้นเป็นอย่างไร นี่ก็คือ เราต้องดูไปถึงแม่ทัพหรือผู้บริหารว่าเขาทำอย่างไร กลยุทธ์นั้นถูกต้องหรือไม่ เขาทุ่มเทกับการรบในสนามหลักหรือเขามักชอบที่จะ “เปิดแนวรบใหม่ ๆ” ไปในจุดที่เขาไม่คุ้นเคยหรือเสียเปรียบหรือไม่ ถ้าเขาทำอย่างนั้นโอกาสที่จะชนะสงครามจะมีแค่ไหน ถ้าเราดูแล้วรู้สึกว่ากลยุทธ์เหล่านั้นไม่ถูกต้องและจะทำให้เสียหายหนัก เราก็จะต้องระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงบริษัทนั้น ว่าที่จริงในเรื่องของการวิเคราะห์ตัวแม่ทัพหรือผู้บริหารนั้น ผมจะมองไปถึงเรื่องของ “คุณธรรม” หรือคุณสมบัติและนิสัยอีกหลายอย่าง รวมถึงอายุและความเป็นคน “หัวอนุรักษ์” หรือเป็นคน “หัวก้าวหน้า” ด้วย เพราะผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญต่อการที่บริษัทจะชนะหรือแพ้ในการรบหรือการต่อสู้ทางธุรกิจ
การวิเคราะห์ว่าใครจะชนะหรือแพ้ในการรบหรือการแข่งขันทางธุรกิจนั้น ผมจะยึดกฎของการสงครามข้อที่สองนั่นก็คือ ในสนามรบที่เราได้ขีดวงไว้แล้วนั้น ฝ่ายไหนมีทรัพยากรมากกว่าฝ่ายนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ ทรัพยากรของสงครามนั้นก็คือ กำลังทหารและอาวุธต่าง ๆ กองทัพที่มี “อำนาจการยิง” ที่เหนือกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ ดังนั้น ในการศึกแต่ละครั้ง แม่ทัพที่มีความสามารถก็คือคนที่สามารถทุ่มสรรพกำลังเข้าไปในสนามรบมากกว่าศัตรู ดังนั้น กองทัพที่ใหญ่โตแต่ไม่ได้อยู่ในสนามรบก็ไม่สามารถชนะศึกได้ กองทัพที่เล็กแต่ทุ่มกำลังเข้าไปในจุดที่สู้รบได้มากกว่ากลับเป็นฝ่ายชนะ ถ้าจะเปรียบกับธุรกิจก็ลองนึกไปถึงบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ของโลกนั้น ถ้าจะเข้ามาแข่งขันกับร้านค้าปลีกที่ยึดทำเลและมีธุรกิจที่แข็งแกร่งในเมืองไทยก็จะเห็นภาพชัด นั่นก็คือ บริษัทระดับโลกนั้นไม่ได้มีทรัพยากรในท้องถิ่นไทยพอ ดังนั้นถ้าเข้ามารบหรือมาแข่งขันก็จะแพ้ตามกฎของสงครามข้อนี้ ซึ่งประวัติศาสตร์ก็บอกเราตลอดเวลาว่า ประเทศที่ใหญ่โตเป็นมหาอำนาจอย่างอเมริกาก็ไม่สามารถรบชนะเวียตนามในสนามรบประเทศเวียตนามได้ทั้งนี้เพราะอเมริกาไม่สามารถระดมทรัพยากรเข้าไปในป่าดงดิบได้ เช่นเดียวกัน เราเห็นบริษัทระดับโลกที่พ่ายแพ้ต้องถอนตัวออกจากประเทศที่กำลังพัฒนามากมายทั้ง ๆ ที่บริษัทท้องถิ่นมีขนาดที่เล็กกว่ามาก
กฎข้อที่สองของสงครามนั้น เรามองเฉพาะในกรณีที่ ทำเลของกองทัพแต่ละฝ่ายเสมอกันและกองทัพเข้าประจันบานกัน แต่ในสงครามนั้นมีเรื่องของชัยภูมิและการเป็นฝ่ายรุกที่ต้องเคลื่อนไหวหรือเป็นฝ่ายตั้งรับที่สามารถตระเตรียมและยึดชัยภูมิที่ดีกว่าไว้หรือไม่ ดังนั้น กฎข้อที่สามของสงครามก็คือ ฝ่ายที่ตั้งรับย่อมแข็งแกร่งกว่าฝ่ายที่รุกรบ และถ้าฝ่ายที่รุกต้องการชนะสงครามก็จะต้องใช้กำลังพลหรืออำนาจการยิงเป็นสามเท่าของฝ่ายที่ตั้งรับ กฎข้อนี้ถ้านำมาประยุกต์กับการแข่งขันทางธุรกิจก็คือ บริษัทที่สามารถสร้าง “ฐาน” ได้ในระดับหนึ่งหรือกลายเป็นผู้นำในธุรกิจหนึ่งแล้วก็จะเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่จะเข้ามาแข่งขัน เพราะถ้าคนใหม่จะเอาชนะได้นั้น ไม่ใช่แค่ว่าจะมีอำนาจการยิงหรือทรัพยากรที่เหนือกว่าเท่านั้น จะต้องมีเหนือกว่าหลายเท่าถึงจะเอาชนะได้ แต่นี่ก็คงต้องมองไปถึงสนามรบด้วยว่าโดยธรรมชาติของมันเป็นสนามที่สามารถ “ตั้งค่าย” หรือมี “คูเมือง” ป้องกันข้าศึกได้หรือไม่ ถ้าไม่มี ฝ่ายรุกก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีทรัพยากรเป็นสามเท่าถึงจะเอาชนะได้ และนี่นำเรากลับไปที่กฎข้อที่หนึ่งของสงครามที่ว่าเราต้องวิเคราะห์สนามรบและชัยภูมิว่ามันเป็นป่าเขา ลุ่มน้ำ หรือที่ราบ
ในสนามรบที่เป็นที่ราบกว้างใหญ่นั้น ผู้ชนะส่วนใหญ่ก็ต้องอาศัย ฝีมือและความสามารถของทหารรวมถึงกลยุทธ์ที่แม่ทัพใช้ ในบางช่วงบางตอนก็จะมีผู้ชนะที่เกรียงไกรสามารถครองพื้นที่กว้างขวาง ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ก็อาจจะเป็นนักรบบนหลังม้าอย่างเจ็งกิสข่าน อย่างไรก็ตาม การรบ “บนหลังม้า” นั้น พวกเขาก็ไม่สามารถยึดชัยภูมิที่ดีและสร้างป้อมค่ายที่จะป้องกันข้าศึกในอนาคตได้ ดังนั้น ก็เป็นการยากที่กองทัพแบบนี้จะสามารถชนะต่อไปยาวนาน ซักวันหนึ่งก็อาจจะมีคนที่เข้ามาต่อสู้และเอาชนะได้ในที่สุด นี่ก็เปรียบเสมือนกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมบางอย่างโดยเฉพาะที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือสินค้าที่ไม่สามารถสร้างความได้เปรียบในด้านของขนาด หรือความได้เปรียบในด้านอื่น ๆ ได้อย่างถาวรเพราะคู่แข่งสามารถเลียนแบบความสำเร็จได้ ในธุรกิจแบบนี้ ผู้ชนะก็มักจะเป็น “ผู้ชนะชั่วคราว” ราคาหุ้นที่ขึ้นไปก็มักจะเป็นการขึ้นชั่วคราว ดังนั้น ถ้าเราเลือกที่จะลงทุน เราก็จะต้องรู้ว่าจะ “ออก” เมื่อไร มิฉะนั้น เราอาจจะขาดทุนได้
ประเด็นสุดท้ายก็คือ เรื่องของธุรกิจนั้นก็เหมือนกับสงครามที่อาจจะมีผู้ชนะหลายรายเช่นเดียวกับผู้แพ้จำนวนมาก และผู้ชนะเองก็อาจจะเป็นศัตรูหรือเป็นมิตรกันได้ ประเด็นสำคัญก็คือ ผู้ชนะมักเป็นผู้ที่ทำลายฝ่ายผู้แพ้และอาจจะสู้กันเองด้วย ในเรื่องของธุรกิจก็เหมือนกัน กระบวนการแข่งขันนั้น ผู้ที่อ่อนแอจะถูก “กลืน” ก่อน จนกว่าผู้อ่อนแอจะหมด ผู้ที่แข็งแรงและ “ชนะ” จึงจะหันมาต่อสู้กันตรง ๆ
 
 

เลือกวิธีประเมินมูลค่าหุ้น

เลือกวิธีประเมินมูลค่าหุ้น
โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


การประเมินมูลค่าหุ้นนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์ที่ชัดเจนและมีการสอนกันทั่วไปก็คือการใช้ตัวเลขและอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ มาคำนวณหามูลค่าของหุ้น ในทางปฏิบัติมีตัวเลขหรืออัตราส่วนอย่างน้อย 4-5 อย่างที่สามารถนำมาใช้ได้ เช่น การใช้ค่า PE หรือราคาเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้น ค่า PB หรือราคาเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชี ค่า DP หรือปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้น หรือการหา DCF หรือการหาค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่บริษัทจะสามารถสร้างได้ในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีความรู้ทางการเงินขั้นสูง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หุ้นและนักลงทุนที่อิงกับแนวพื้นฐานทั้งหลายซึ่งรวมถึง VI ส่วนใหญ่ก็มักจะประเมินมูลค่าหุ้นโดยใช้ค่า PE เป็นหลัก โดยอาจจะมีค่า PB เป็นตัวประกอบบ้าง ดูเหมือนว่าค่า PE จะเป็น “กฎเหล็ก” ที่จะบอกว่ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นควรจะเป็นเท่าไรสำหรับนักวิเคราะห์และนักลงทุนจำนวนมาก พูดง่าย ๆ ถ้าหุ้นตัวไหนมีค่า PE ที่สูงลิ่วแล้ว หุ้นตัวนั้นก็มักจะถูกบอกว่าเป็นหุ้นที่แพงเกินพื้นฐาน ส่วนที่มีค่า PE ต่ำก็กลายเป็นหุ้นถูก และนี่คือการเน้นใช้แต่ศาสตร์ ไม่ได้ใช้ศิลป์ในการประเมินมูลค่าหุ้นเท่าที่ควร
ศิลป์ที่สำคัญในการประเมินมูลค่าหุ้นนั้น มีมากมาย แต่ที่ผมจะพูดนั้นเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญและมีความผิดพลาดเกิดขึ้นตลอดเวลา ศิลป์ที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องว่าเราจะให้ค่า PE เท่าไรสำหรับหุ้นแต่ละตัว เพราะนี่อาจจะเป็นเรื่องรอง สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ศิลปะในการเลือกเครื่องมือหรืออัตราส่วนหรือเทคนิคที่จะใช้ประเมินมูลค่าหุ้นต่างหาก นั่นก็คือ ผมกำลังบอกว่าเวลาจะประเมินมูลค่าหุ้นนั้น อย่าเริ่มจากการดูค่า PE เพราะค่า PE นั้น ถ้าเราจะใช้เราควรจะต้องมั่นใจว่า E หรือกำไรของบริษัทมีความสม่ำเสมอและจะไม่ลดลงในอนาคต ดังนั้น ถ้าเราไม่แน่ใจว่ากำไรของบริษัทจะมีลักษณะแบบนั้นหรือไม่ เราก็ไม่ควรใช้ค่า PE เป็นหลักในการประเมินมูลค่าหุ้น ประเด็นก็คือ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมากและน่าจะเป็นส่วนใหญ่ด้วย ไม่ได้มีคุณสมบัติอย่างนั้น บริษัทในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตและขายสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์มักจะมีกำไรขึ้น ๆ ลง ๆ ตามราคาสินค้าในตลาดโลก ดังนั้น การใช้ค่า PE จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม บริษัทที่เพิ่งฟื้นตัวและเพิ่งจะมีกำไรนั้น เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ากำไรนั้นจะต่อเนื่องและไม่ลดลงมาในอนาคต? ดังนั้น จะใช้ค่า PE ได้อย่างไร? แต่ถ้าไม่ใช้ค่า PE แล้ว เราจะใช้ค่าไหน?
ประเด็นก็คือ ถ้าเราใช้ค่า PB เราจะตีมูลค่าของหุ้นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามูลค่าทางบัญชีเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้น หุ้นตัวนั้นควรจะมีราคาเป็นกี่เท่าถึงจะเรียกว่าเหมาะสม 2 เท่า หรือ 3 เท่า หรือ 10 เท่า? เหนือสิ่งอื่นใด มูลค่าทางบัญชีนั้น อาจจะไม่ใช่ “ของจริง” เพราะสินทรัพย์อาจจะได้มานานและอาจจะเป็นที่ดินที่มีราคาตลาดสูงกว่านั้น หรือตรงกันข้าม ทรัพย์สินอาจเป็นโรงงานที่ล้าสมัยและมีค่าน้อยลงมาก ดังนั้น มูลค่าทางบัญชีก็อาจจะมีความหมายน้อย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ บริษัทอาจจะไม่ได้อาศัยทรัพย์สินที่จับต้องได้มาทำมาหากิน บริษัทอาจจะหาเงินหรือสร้างรายได้จากยี่ห้อหรือความนิยมอื่น ๆ ดังนั้น การประเมินมูลค่าหุ้นจากทรัพย์สินทางบัญชีของบริษัทจึงอาจจะไม่เหมาะสมสำหรับหลาย ๆ บริษัท สรุปว่า การใช้ค่า PB สำหรับหลาย ๆ บริษัทก็อาจจะเป็นความผิดพลาดเช่นกัน และอาจจะยิ่งแย่กว่าการใช้ค่า PE
ถ้าเราจะถกเถียงถึงเทคนิคแต่ละอย่างในการใช้ประเมินมูลค่าบริษัทไปเรื่อย ๆ เราก็จะพบว่าแต่ละอย่างก็มีจุดดีและจุดด้อยถ้าเราใช้กับทุกบริษัทโดยไม่แยกแยะก่อนว่าบริษัทที่เรากำลังวิเคราะห์หรือประเมินนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร ดังนั้น วิธีที่ดีกว่าก็คือ เราต้องวิเคราะห์ธรรมชาติของธุรกิจแต่ละบริษัทว่าเป็นอย่างไร จากนั้นจึงมาดูว่าเราจะใช้เครื่องมืออะไรเป็นหลักในการประเมินมูลค่าหุ้น และจะใช้อัตราส่วนไหนเป็นตัวประกอบที่จะทำให้การประเมินของเราถูกต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด และนี่ก็คือศิลปะที่ VI จำเป็นต้องมี และต่อไปนี้ก็คือ ตัวอย่างที่ VI อาจจะลองนำไปพิจารณาใช้
หุ้นกลุ่มที่มีผลประกอบการสม่ำเสมอและกำไรไม่ลดลงในอนาคต เช่น หุ้นในกลุ่มที่อิงกับการบริโภคและบริษัทเป็นผู้นำ สินค้าของบริษัทไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาอิงกับตลาดโลก ซึ่งน่าจะรวมถึงกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ โรงพยาบาล กลุ่มสาธารณูปโภค เช่น รถไฟฟ้า ทางด่วน การผลิตและจำหน่ายน้ำหรือไฟฟ้า ต่าง ๆ เหล่านี้ เราน่าจะสามารถใช้ค่า PE เป็นหลักได้ หุ้นสถาบันการเงิน เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ นั้น เราอาจจะใช้ค่า PE ประกอบกับค่า PB ในการประเมินมูลค่าหุ้นได้ ค่า PE นั้นพูดถึงการทำกำไร แต่ค่า PB เองก็มีประโยชน์ เพราะทรัพย์สินส่วนใหญ่ของธนาคารเป็นเรื่องของเงินที่น่าจะมีมูลค่าตลาดใกล้เคียงกับมูลค่าทางบัญชี ดังนั้น PB ที่ต่ำหรือสูงก็สามารถบอกถึงความถูกความแพงได้พอสมควร หุ้นของบริษัทที่กำลังเติบโตและมีศักยภาพที่จะกลายเป็นซุปเปอร์สต็อกนั้น บางทีการใช้ค่า PE และ PB ก็อาจจะไม่เหมาะสมและไม่เพียงพอ เราอาจจะมองถึง Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นว่าในระยะยาวมันควรจะเป็นเท่าไร หรือไม่ก็เทียบกับหุ้นขนาดใหญ่อื่น ๆ ในตลาดว่าในที่สุดมันจะมีมูลค่าถึงแค่ไหนเป็นต้น
หุ้นที่มีกำไรไม่สม่ำเสมอหรือเป็นวัฎจักรนั้น การใช้ค่า PE คงไม่เหมาะสม การใช้ค่า PB เองก็จะต้องดูว่ามูลค่าทางบัญชีนั้นใกล้เคียงกับมูลค่าตลาดของทรัพย์สินหรือไม่ ถ้าใช่ หรือเราสามารถปรับมูลค่าทางบัญชีให้ใกล้เคียงกับราคาตลาด การใช้ค่า PB ก็อาจจะมีประโยชน์และดีกว่าค่า PE อย่างไรก็ตาม การประเมินด้วยวิธีการแบบนี้ความแม่นยำก็อาจจะน้อย ดังนั้น ในกรณีส่วนใหญ่แล้ว เราก็อาจจะต้องยอมรับอย่างที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ เคยพูดไว้ว่ามัน “Too Hard” หรือ “ยากเกินไป” ดังนั้น เราไม่ประเมินดีกว่า
การใช้ตัวเลขหรืออัตราส่วนหลาย ๆ ตัวมาช่วยประกอบกัน รวมถึงการให้น้ำหนักของปัจจัยในการกำหนดมูลค่าของหุ้น เช่น ปันผล การเติบโตของกิจการ กระแสเงินสดที่ได้รับ และองค์ประกอบอื่น ๆ ทั้งที่ดีและไม่ดีของบริษัท จะช่วยให้เราสามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะใช้เทคนิคและความรู้ความเข้าใจแค่ไหนก็ตาม พึงระลึกเสมอว่า ศาสตร์และศิลป์ของการประเมินมูลค่าของกิจการนั้นให้ผลสูงสุดแค่ว่ามัน “Approximately Right” หรือถูกแบบ “ประมาณว่า..” ไม่ใช่ถูกแบบตรงเป้า ดังนั้น การเผื่อความปลอดภัยโดยการซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอย่างน้อยอีก 20-30% จึงเป็นสิ่งจำเป็น และถึงกระนั้นแล้วก็ยังไม่เพียงพอ เราจำเป็นที่จะต้องลดความเสี่ยงลงไปอีกโดยการกระจายการถือหุ้นหลาย ๆ ตัว อย่างน้อย 5-6 ตัวในกรณีพอร์ตไม่ใหญ่นัก และ กว่า 10 ตัวขึ้นไปในกรณีที่พอร์ตค่อนข้างใหญ่ เพื่อที่จะสามารถรักษาเงินต้นไว้ได้แม้จะเกิดสถานการณ์ที่ร้ายแรงในตลาดหุ้นและหุ้นที่เราลงทุน


http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=54358


เอาบทความมาฝากให้อ่านกันครับ เกี่ยวกับเรื่อง Business Model

บทความนี้เป็นบทความที่ผมเขียนเองเมื่อปลายปี 2010 ครับ โดยส่วนตัวผมมองว่า Business Model เป็นอะไรที่ทำให้เราสามารถแยกบริษัทที่เป็น ซุปเปอร์บริษัท ออกจากบริษัทที่เป็นบริษัทธรรมดาๆ ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูราคาประกอบด้วย ว่ามันยังน่าลงทุนหรือป่าว ลองอ่านกันดูครับ ผิดถูกประการใดก็ช่วยกันวิจารณ์หน่อยนะครับ :D


Girls' Generation, Business Model and Investment

สวัสดีครับทุกคน ช่วงนี้ฝนตกบ่อยเหลือเกินครับ ไปไหนมาไหนก็อย่าลืมพกร่มติดตัวไว้นะ สองอาทิตย์ที่ผ่านมามีเรื่องเกี่ยวกับวงการบันเทิงเกิดขึ้นมากมายเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฟิล์มกับแอนนี่ แล้วก็เรื่องธัญญากับเป็ก แต่ละเรื่องพูดตรงๆแล้วไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรซักเท่าไร จะว่าไร้สาระก็ว่าได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่สามารถนำมาเป็นบทเรียนได้ว่า จะทำอะไรก็ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดีๆ มองยาวๆ เข้าไว้ มีความสุขในระยะสั้นแต่มีความทุกข์ในระยะยาวก็ไม่ไหวนะครับ

วันนี้ผมอยากจะพูดเรื่องๆ นึงที่เกิดขึ้นจากความสนใจส่วนตัว แต่มันเกี่ยวข้องกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น หรือธุรกิจส่วนตัว คนที่รู้จักผมเป็นการส่วนตัวคงจะงงว่า ทำไมผมถึงได้ไปสนใจวง K-Pop เกาหลีอย่าง Girls' Generation หรือ โซน ยอ ชิ แด ในภาษาเกาหลี ซึ่งเวลาแปลเป็นไทย ก็จะแปลว่า ยุคสมัยของวัยสาว ฮ่าๆๆๆ เสี่ยวไม่ใช่เล่นเลยนะครับ ผมว่าตอนที่สังกัดของพวกเธอตั้งชื่อนี้ให้ พวกเธอคงกระอักกระอ่วนใจไม่ใช่เล่นแน่ๆเลย

เหตุที่ผมรู้จักและสนใจวง GG นี้ก็เป็นเพราะว่า ช่วงปลายปีที่แล้ว ผมมีโครงการจะซื้อทีวีใหม่ ผมเลยไปแวะที่แผนก Power Buy บ่อยๆครับ และก็ไปดูว่ายี่ห้อไหนน่าสนใจ และราคาพอสมควร ไปบ่อยซะจนแฟนผมเบื่อเลยอะครับ ตอนแรกๆที่ผมไปผมก็เน้นที่ยี่ห้อญี่ปุ่น อย่างเช่น Panasonic Sony Sharp Toshiba พอหลังจากนั้น ผมก็มาเน้นที่ยี่ห้อของเกาหลีอย่างเช่น Samsung LG เพราะผมมีความรู้สึกว่า สิ่งที่เกาหลีกำลังทำตอนนี้ คล้ายๆกับสิ่งที่ญี่ปุ่นเคยทำกับอเมริกาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นั่นก็คือทำของที่คุณภาพสูสีกัน แต่ราคาถูกกว่า แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้จักและจำแบรนด์ LG ได้อย่างแม่นยำ นั่นก็คือ Music Video ของวง Girls' Generation ครับ เพลง Gee


Attachment:

20091112_gee.jpg
20091112_gee.jpg [ 70.7 KiB | Viewed 5489 times ]


สิ่งที่ผมสนใจไม่ใช่เพราะว่าหญิงสาวหน้าตาน่ารัก 9 คนนะครับ เริ่มแรก ผมรู้สึกว่ามิวสิควีดิโอเพลงนี้ มีสีสรรที่งดงามมากๆ สามารถดึงดูดความสนใจจากคนที่ได้เห็นมากๆเลย แต่สิ่งที่เข้ามาหัวของผมก็คือ "ทำไมวงนี้สมาชิกมันเยอะแบบนี้เนี่ย มีตั้ง 9 คน เวลาจะคิดท่าเต้น เวลาซ้อมคงยุ่งตายเลย การบริหารจัดการก็คงจะยุ่งยากมาก และที่สำคัญ เวลาได้เงินมาต้องหาร 9"

หลังจากที่มีเรื่องติดค้างในใจ ด้วยนิสัยของผมก็ต้องหาข้อมูลครับ เริ่มแรกผมก็หาข้อมูลด้วย Wikipedia ก็ได้รู้ว่าพวกเธอที่มารวมกัน ต้องผ่านการคัดเลือกที่มหาหินและต้องเป็นเด็กฝึกหัดของทางค่ายอีกหลายปี บางคนต้องเป็นเด็กฝึกถึง 7 ปีกว่าจะได้เปิดตัว ต้องยอมรับเลยว่าคนเกาหลีนี่อึดจริงๆ หลังจากนั้น ผมก็หาข้อมูลเป็นรายบุคคลเลย เพราะว่าข้องใจมากๆว่าทำไมถึงต้องมีเก้าคน พอหาข้อมูลที่ลึกลงไปก็ได้พบว่า พวกเธอแต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัวและบุคลิกที่แตกต่างกัน ท่านผู้อ่านก็คงคิดในใจว่า มันก็แหงอยู่แล้ว ถ้าเหมือนกันแล้วจะเอามาหลายคนทำไม ผมก็คิดเหมือนกันครับ ผมก็เลยศึกษาข้อมูลให้ลึกเข้าไปอีกครับว่ามันเป็นเพราะอะไร ผมก็มาได้ข้อสรุปว่า นักร้องเกาหลีเค้าไม่ได้ร้องเพลงอย่างเดียว ไม่ได้แสดงคอนเสริต์อย่างเดียว แต่ที่เกาหลีมีเกมส์โชว์เยอะมากๆเลย เยอะแบบเยอะจริงๆอะ อันไหนที่ rating ไม่ค่อยดี เค้าเอาออกเลยครับ ไม่มีการมารอเป็นปีๆ และพวกเธอก็สามารถกระจายกันไปออกรายการต่างๆ ที่เหมาะกับบุคลิกและลักษณะของเธอ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้วง Girls' Generation สามารถเจาะไปที่กลุ่มเป้าหมายได้หลายกลุ่มเลยครับ และทำให้ Brand Girls' Generation แข็งแรงมาก เป็นการทำการตลาดที่ฉลาดมากเลยครับ

ทีนี้ มาโยงเข้าเรื่องการลงทุนได้แล้วครับ โดยส่วนตัวแล้ว ผมได้ลงทุนในตลาดหุ้นมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ปีนี้ก็เป็นปีที่ 8 แล้วครับ ได้เจอตลาดมาแทบทุกแนวแล้ว ทั้งตลาดกระทิงดุสุดๆ ตลาดหมีไอซียูก็เจอมาแล้ว พอผมมาคิดเรื่องที่ผมได้หาข้อมูลและทำความรู้จักกับวง Girls' Generation ผมก็มาคิดว่าถ้าใครที่คิดจะลงทุนในตลาดหุ้นหรือจะทำธุรกิจส่วนตัวก็ตาม ก็ควรจะหาข้อมูลแบบที่ผมทำกับวง Girls' Generation ครับ เพราะว่าการลงทุนในตลาดหุ้น พูดตรงๆแล้วก็มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างมาก แต่จะว่าไปความเสี่ยงก็มีอยู่ทุกที่นะครับ ขนาดผมนั่งเฉยๆ รถมันยังพุ่งมาชนผมเองเลย สิ่งที่เราต้องทำคือลดความเสี่ยงครับ หรือพูดง่ายๆคือ "เปลี่ยนสิ่งที่เราไม่รู้ ให้กลายเป็นสิ่งที่เรารู้" เพราะความเสี่ยงก็คือสิ่งที่เราไม่รู้นั่นเอง เวลาผมจะซื้อหุ้นสักตัว ผมก็จะหาข้อมูลค่อนข้างมากครับ เพราะเป้าหมายในการซื้อแต่ละครั้งของผมนั้น ค่อนข้างที่จะใหญ่ นั่นก็คือกำไรอย่างน้อยหนึ่งเท่าตัว แต่จากที่ผมได้สัมผัสและได้รู้มา คนส่วนใหญ่ซื้อหุ้นกันแบบเก็งกำไร คือไม่รู้หรอกว่าหุ้นตัวนั้น เบื้องหลังแล้วทำธุรกิจอะไร และธุรกิจนั้นๆ ทำเงินได้อย่างไร พอซื้อหุ้นแล้วหุ้นลงก็ไม่ยอมขาย กลับบอกว่าซื้อลงทุน ทั้งๆที่แท้จริงแล้ว กำไรแค่ 1 -2% ก็เผ่นแล้ว

ในช่วง 2 - 3 ปีมานี้ เป็นปีที่ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจมีความผิดปกติมากจริงๆครับ เวลาลงก็ลงแบบเขื่อนแตกเลย เวลาขึ้นก็ขึ้นแบบไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเช่นกัน ใครที่เล่นหุ้นใน 2 ปีที่ผ่านมานี่ ก็คงจะยิ้มกันแก้มปริ เพราะว่าทำเงินกันง่ายเหลือเกิน สิ่งนี้แหละเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากๆ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มลงทุนในหุ้นในปี 2009 เพราะเส้นทางที่ท่านเดินมันโรยด้วยกลีบกุหลาบครับ แถมโรยไว้อย่างหนาเลยด้วย ผมอยากจะเตือนว่าตลาดแบบนี้มันไม่ได้มีบ่อยๆหรอกครับ และก็ไม่รู้ว่ามันจะจบเมื่อไหร แต่ผมว่ามันคงอีกไม่นานมากแน่นอน เพราะว่าถ้าตลาดเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ คงไม่มีใครมานั่งทำงานให้เมื่อยแล้ว เล่นหุ้นดีกว่า (คือระยะยาวผมยังมองว่ามันดีนะครับ แต่ต้องดูเป็นรายตัวไป แต่ระหว่างนั้น มันคงไม่ขึ้นตลอดแบบช่วงที่ผ่านมา ถ้ากะว่าจะลงทุนระยะยาวและทนแรงเสียดทานไหวก็เยี่ยมมากครับ)

ผมเคยคิดมาเสมอว่า ถ้าผมมีหลักการหรือ Model ที่ทำให้รู้จักหุ้นที่ผมสนใจก็คงจะดี เพราะไม่งั้นเวลาหาข้อมูลแต่ละที มันค่อนข้างที่จะเยอะและ organize ลำบากครับ แต่ผมก็โชคดีที่ผมมาเจอหนังสือเล่มนึง ชือว่า Business Model Generation ซึ่งแต่งโดย Dr.Alexander Osterwalder ทีร้าน Kinokuniya ชื่อหนังสือก็ดันไปคล้ายๆกับวง Girls' Generation ซะอีก ช่างบังเอิญอะไรเช่นนี้ และ Model ในการออกแบบและศีกษา Business Model ก็ดันมี 9 ปัจจัย อีกเช่นกัน มีหน้าตาเป็นแบบนี้ครับ


Attachment:

Business model canvas0001.JPG
Business model canvas0001.JPG [ 90.43 KiB | Viewed 5489 times ]


ใน 9 ช่องนี้จะแบ่งได้ดังนี้ครับ

1. Customer Segments - ลูกค้ากลุ่มไหน หรือองค์กรไหนที่บริษัทนั้นๆกำลังรับผิดชอบอยู่ หรือมีแผนที่จะเจาะเข้าไป เช่น เด็ก สตรี คนชรา หรือทุกคน

2. Value Propositions - อะไรคือสิ่งที่บริษัทนี้ สามารถเสนอประโยชน์ หรือ solution ในการแก้ปัญหาของลูกค้า อย่าง Skype ก็คือให้คนคุยกันผ่านคอมพิวเตอร์โดยไม่เสียเงิน เสียแต่ค่า internet

3. Channels - บริษัทนี้ ใช้ช่องทางไหนในการส่ง Value proposition ของเค้า ไปสู่ Customer segments ของเค้า อย่าง Apple ก็ใช้ iTune เป็น Channel ในการส่ง เพลง หรือ application ถึงกลุ่มเป้าหมายของเค้า

4. Customer Relationships - ระดับความสัมพันธ์และจุดประสงค์ที่บริษัทนั้นๆ ต้องการสร้างกับกลุ่มลูกค้า ซึ่งแต่ละระดับความสัมพันธ์และจุดประสงค์ ก็จะมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน อย่างเช่น บริษัท KTC ต้องการให้คนเปลี่ยนมาใช้บัตร(customer acquisition) KTC ก็จะเสนอฟรีค่าธรรมเนียมรายปีตลอดชีวิต และต้องการให้คนใช้บัตร KTC ไปนานที่สุดเท่าที่จะจะทำได้(customer retention) ก็คือ KTC forever reward

5. Revenue Streams - เงินเข้ามาที่บริษัทนี้ได้อย่างไร อย่าง AIS ก็คือค่าใช้งานโทรศัพท์ ค่า SMS ส่วนแบ่งรายได้จากค่าธรรมเนียม mPay

6. Key Resources - ทรัพย์สินไม่ว่าจะในทั้ง Current asset, Long-term asset, Machine, Human, Brand, Patent, Platform ที่ทำให้ Business model นั้นๆมันทำงานได้ และทำให้สามารถสร้าง Value proposition ของบริษัทนั้นๆขึ้นมาได้ อย่าง คุณตัน ภาสกรนที คือ Key resource ของ Oishi (ตอนนี้ต้องเปลี่ยนเป็น ichitan แล้ว)

7. Key Activities - สิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่บริษัทนั้นๆต้องทำ เพื่อทำให้ Business model นั้นๆใช้การและทำงานได้ อย่างเช่น สิ่งที่ Major Cineplex ต้องทำก็คือฉายหนังให้เราดู ใบระบบเสียงที่ดีมากและมีการตบแต่งที่น่าดู และสิ่งที่ Amazon.com ต้องทำก็คือ บริหารระบบ supply chain management ให้ดีที่สุด ให้ถึงมือลูกค้าให้เร็วที่สุด ในราคาที่ถูกที่สุด

8. Key Partnerships - เครือข่ายต่างๆ หุ้นส่วนทางการค้าต่างๆ ซัพพลายเออร์ต่างๆ องค์กรต่างๆ ที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการทำธุรกิจของบริษัทนั้นๆที่จะทำให้ business model นั้นๆ ทำงานได้ดีและราบรื่น และระดับความสัมพันธ์นั้น ก็ยังแบ่งออกไปได้หลายแบบอีก เช่น การร่วมมือกันระหว่างกลุ่มที่ไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน การร่วมมือกันของคนที่เป็นคู่แข่งกัน การร่วมมือแบบ buyer-supplier และการร่วมมือแบบ Joint Venture อย่างเช่น 7-11 เป็น Key Partnership ของปั๊มน้ำมัน PTT ซึ่งเป็นการร่วมมือแบบไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน และบริษัท Electronic บางบริษัทก็ไป Joint venture กับบริษัทใน Taiwan เพื่อทำให้ระบบ supply chain มีความมั่นคงมากขึ้น

9. Cost Structure - ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจนั้นๆ ซึ่งจะทำให้ business model นั้นๆทำงานได้ ก็อย่างเช่น เงินเดือน ค่าวัตถุดิบ ค่า bandwidth ค่าประกันภัย ค่าลิขสิทธิ์ ค่าเช่า อะไรก็ตามที่ขึ้นด้วยคำว่า ค่า อะครับ

ใน 9 ปัจจัยนี้ เป็นอะไรที่เราจะต้องรู้นะครับ ถ้าเราจะลงทุนในตลาดหุ้นหรือธุรกิจส่วนตัว มันจะทำให้ความเสี่ยงของท่านลดลงไปมากๆ ทุกวันนี้เรามี internet และ social media ที่ดีมากๆ ไม่ต้องกลัวว่าสิ่งที่เราวิเคราะห์ในแต่ละปัจจัยนั้นจะผิด เราสามารถช่วยกันตรวจสอบ แก้ไข และเพิ่มเติมได้ ถ้าท่านไม่รู้จักบริษัทที่ท่านจะลงทุน ในระยะยาวแล้วโอกาสขาดทุนแบบกระเป๋าฉีกมีสูงมากเลยครับ

ที่ผมต้องเน้นมากเหลือเกินในเรื่อง Business Model เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่จะทำให้เรารู้ได้ว่า บริษัทพื้นๆ กับซุปเปอร์บริษัทนั้น แตกต่างกันอย่างไร งบการเงินและสัดส่วนทางการเงินต่างๆก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันครับ

ผมเลยอยากแนะนำให้ท่านทั้งหลายทำเป็นขั้นๆดังนี้นะครับ

1. เลือกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ท่านสนใจลงทุนก่อน
2. เลือกบริษัทที่่ท่านสนใจในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ
3. เขียนปัจจัยต่างๆในแบบฟอร์ม Business Model ของบริษัทนั้นๆในตารางให้ครบ
4. ทำตารางสัดส่วนทางการเงินของบริษัทนั้นๆ


Attachment:

financial ratio0002.JPG
financial ratio0002.JPG [ 92.25 KiB | Viewed 5489 times ]


5. เอาแต่ละบริษัทที่เราทำ Business Model และ Financial Ratio มาเปรียบเทียบกันดู และเลือกบริษัทที่เราคิดว่าดีและเหมาะกับจุดประสงค์ในการลงทุนของเรามากที่สุดครับ

5.1 เราจะตัดสินว่าบริษัทน่าสนใจในการลงทุนโดยดูจาก Business Model ครับ ถ้ามี Business Model ที่แข็งแกร่ง ก็ถือว่าผ่าน

5.2 Financial Ratio จะเป็นตัวบอกว่า บริษัทที่ท่านคิดว่ามี Business Model ที่เข้มแข็งนั้น มันยังถูกอยู่ หรือว่าแพงเกินไปที่จะลงทุนแล้ว ถ้าหุ้นดี แต่ราคาแพงเกิน ก็อย่าไปสนใจครับ เหมือนทองคำนะครับ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าทองคำเป็นทรัพย์สินที่ดีน่าเก็บสะสม แต่ถ้าต้องซื้อที่บาทละ 40,000 บาท ก็ไม่ไหวนะครับ และ Business Model ที่เราคิดว่าดีและแข็งแกร่งนั้น สามารถทำกำไรให้บริษัทได้ดีอย่างที่เราคิดหรือป่าว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็อยากให้ทำ Financial Ratio ย้อนหลังด้วย จะได้ดูการเปลี่ยนแปลงของการดำเนินงานของบริษัทนะครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับ ไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมพยายามจะนำเสนอจะพอมีประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างไหม ยิ่งท่านรู้จักสิ่งที่ท่านสนใจมากเท่าไร ประโยชน์ก็จะมากขึ้นไปตามกันเลยครับ วงดนตรี K-Pop อย่าง Girls' Generation ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำอะไรสักอย่างให้มันมีระเบียบและระบบได้นะครับ ตัวผมเองในตอนแรก ไม่เคยสนใจอะไรที่เกี่ยวกับเกาหลีเลยแม้แต่น้อย แต่พอได้ศึกษาหาข้อมูลอย่างเจาะลึก ก็ทำให้รู้ได้ว่าเกาหลี เป็นชาติที่ทำงานกันหนักและจริงจังมากๆ ประเทศของเค้าถึงได้เจริญอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง

ผมหวังว่าการนำ Model ในการสร้างวง Girls' Generation รูปแบบ Business Model Generation ของ Dr.Alexander รวมไปถึงการทำงานหนักและจริงจังของคนเกาหลี มาประยุกต์กับการลงทุน จะทำให้ทุกท่านได้รับผลตอบแทนที่ดี ปลอดภัย และมั่นคงครับ


เครดิต batigoal
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=51308

วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Stocks Mania

โลกในมุมมองของ Value Investor 2 กุมภาพันธ์ 56

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Stocks Mania

สถานการณ์หรือภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ทำให้ผมนึกไปถึงเรื่องของการ “เก็งกำไรกันอย่างบ้าคลั่ง” ในตลาดของทรัพย์สินต่างๆที่มักเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวในที่ต่างๆ ทั่วโลกและในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาหลายสิบปีเท่าที่ผมยังจำความได้ และแน่นอน ผมต้องนึกถึงประวัติของการเก็งกำไรระดับโลกที่ได้มีการจารึกไว้และเล่าขานต่อเนื่องกันมานานนั่นก็คือเรื่องของการเก็งกำไรอย่าง “บ้าคลั่ง” ในหัวดอกทิวลิปที่เกิดขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ในช่วงปี ค.ศ. 1634-1637 ซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Tulip Mania”

เล่ากันว่าในช่วงนั้นผู้คน “ขายบ้านขายช่อง” เพื่อที่จะนำเงินมาซื้อหัวทิวลิปที่มีลวดลายสวยงามที่เกิดขึ้นจากการที่มัน “ติดเชื้อไวรัส” หรือจะเกิดขึ้นจากอะไรก็ตามที่ทำให้มันแปลกตาและหายากที่ทำให้คน “อยากเล่น” เพื่อที่จะ “ขายต่อ” ให้คนอื่นที่จะเข้ามา “บิดราคา” เพื่อที่จะซื้อและก็ “ขายต่อ” ให้กับคนอื่นไปเรื่อยๆผ่าน “ตลาดล่วงหน้า” ที่เป็น “สัญญากระดาษ” ว่ากันว่าในช่วงที่ราคาหัวทิวลิปขึ้นสูงสุดนั้น ทิวลิปที่ “สวยจริงๆ” จะมีราคาเท่ากับรายได้ของช่างชำนาญงานถึง 10 ปี คนที่เล่นเก็งกำไรหัวทิวลิปนั้นมีตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงคนร่ำรวย คนชั้นสูงและขุนนางที่ต่างก็ “ทนไม่ไหว” กับการที่เห็นคนอื่น “รวยเอาๆ อย่างง่ายๆ” โดยการเข้าไปซื้อหัวทิวลิปในตลาด

แน่นอนว่าราคาของหัวทิวลิปที่ขึ้นไปจน “เกินพื้นฐาน” ไปมากๆนั้น ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้และก็ตกลงมาจนแทบจะไม่มีค่าหรือเท่ากับพื้นฐานของมัน ว่าที่จริง มูลค่าที่แท้จริงของทิวลิปนั้น ถ้าไม่คิดถึงสีสันลวดลายของมันที่เป็นเรื่องของจิตใจแล้ว มันก็คือดอกไม้ธรรมดาๆ ที่มีค่าน้อยมาก การที่คนให้คุณค่ามันมากมายนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ คุณค่าของการ “เก็งกำไร” คือซื้อเพื่อหวังจะขายต่อในราคาที่สูงขึ้น แต่ตัวของมันสร้างรายได้หรือทำเงินน้อยมาก หลังจากกรณีของ “ฟองสบู่ดอกทิวลิป” แล้ว โลกและประเทศไทยเองก็มีประวัติศาสตร์ของการเก็งกำไรมาเรื่อยๆ ราวกับว่าคนไม่ได้รับรู้เหตุการณ์ในครั้งนั้น หรือถ้าจะอธิบายอีกทางหนึ่งก็คือ คนไม่ได้สนใจว่า “จุดสุดท้าย” จะเป็นอย่างไร พวกเขาอาจจะเพียงแต่คิดว่าในระหว่างที่ราคากำลังขึ้นอย่าง “บ้าคลั่ง” นั้น โอกาสทำเงินนั้นสูงลิ่ว “ยิ่งรอก็ยิ่งเสียโอกาส” ดังนั้นเขาจึงเข้าไปเล่น เหนือสิ่งอื่นใด ฟองสบู่แต่ละครั้งมักจะอยู่นานเป็นปีๆ

ในประเทศไทยเองนั้น ผมยังจำได้ว่าในช่วงที่ผมเริ่มทำงานใหม่ๆ ซึ่งก็ประมาณเกือบ 40 ปีมาแล้ว ผมจำไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่อยู่ๆคนไทยก็เริ่มสนใจและเริ่มซื้อขายหินสวยงามชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “โป่งข่าม” นี่คือหินที่มีสีและลวดลายแปลกๆในแต่ละเม็ดไม่ซ้ำกัน ขนาดของแต่ละเม็ดก็แตกต่างกันไปตามธรรมชาติของหิน เมื่อได้มาแล้วคนก็จะนำไปเจียระไนเพื่อนำไปทำหัวแหวนและเครื่องประดับอื่นๆเพื่ออวดกันในหมู่เพื่อนฝูง เมื่อความนิยมในสังคมมีมากขึ้น การซื้อขายเปลี่ยนมือก็ตามมา หนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ก็เริ่มตีพิมพ์เรื่องราวและความสวยงามของหินชนิดนี้ และแล้วเรื่องราว“ปาฏิหาริย์” ก็ตามมา บ้างก็ว่าเมื่อสวมใส่โป่งขามแล้วทำให้โชคดี บ้างก็อ้างว่ามันมี “พลัง” ในตัวที่ทำให้โรคภัยบางอย่างของผู้สวมใส่เช่นอาการหืดหอบหาย ผู้หญิงบางคนบอกว่าใส่โป่งข่ามแล้วทำให้ใบหน้า “มีน้ำมีนวลขึ้น” ด้วย ราคาของโป่งข่ามพุ่งขึ้นไปสูงมาก บางเม็ดอาจจะขึ้นไปเป็นหมื่นหรือเท่าไรผมก็จำไม่ได้เนื่องจากไม่ได้เข้าไป “เล่น” เลย แต่หลังจากนั้นความนิยมก็ลดลงเรื่อยๆ จนแทบไม่มีราคา เดี๋ยวนี้ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้จักแล้วว่าโป่งข่ามนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร

เมื่อราวซัก 10 ปีที่ผ่านมาเราคงจำกันได้ว่าคนไทยเริ่ม “บ้า” จตุคาม ที่เป็นเหรียญที่เข้าใจว่ามีคนจัดทำขึ้นเพื่อเป็น “สิ่งศักดิสิทธ์” เริ่มต้นจากนครศรีธรรมราชถ้าผมจำไม่ผิด ต่อมาก็มีคนจัดทำมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าเป็นช่องทางที่วัดหรือหน่วยงานจะหารายได้มาทำนุบำรุงองค์กรของตน เมื่อมีการทำกันมากขึ้นก็เริ่มมีเรื่องราว “ปาฏิหาริย์” ตามมา บางคนก็เริ่มสนใจในความ “งดงาม” ของจตุคามที่ออกกันมามากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนแขวนจตุคาม “เต็มคอ” กลายเป็นแฟชั่น และก็เช่นเคย สื่อมวลชนและหนังสือพิมพ์ก็เริ่มจับเรื่องนี้มาเล่น ราคาของจตุคามบางรุ่นถูก “ไล่ราคา” ขึ้นไป ผมก็ไม่แน่ใจว่ารุ่นที่แพงมากๆ เป็นเท่าไร แต่ราคาในระดับแสนบาทก็น่าจะมีอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม การเล่นจตุคามก็ตกลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ Supply หรือของใหม่นั้นออกมาได้เร็วและมากอย่างไม่มีข้อจำกัด เดี๋ยวนี้คนเลิกหมดแล้ว และผมเชื่อว่าจตุคามที่เคยโด่งดังก็คงมีราคาน้อยมาก

ความ “บ้าคลั่ง” ของการเก็งกำไรที่มีผลกระทบ “ระดับชาติ” ของไทยนั้นก็คือการเล่น “แชร์แม่ชม้อย” ซึ่งเป็น “แชร์ลูกโซ่” กองแรกๆของไทยเมื่อประมาณซัก 35 ปีก่อน นั่นก็คือ การที่ “เจ้ามือ” เสนอการลงทุนในอะไรบางอย่างที่กำลัง “ร้อนแรง” เช่น น้ำมันในกรณีของแม่ชม้อย คนที่เข้ามาเล่นจะต้องจ่ายเงินค่าแชร์เช่น ซื้อน้ำมันหนึ่งคันรถอาจจะเท่ากับ 10,000 บาท หลังจากนั้นแต่ละเดือนเขาจะได้รับเงินปันผลตอบแทนเช่น 1,000 บาททุกเดือน แน่นอน เงินนั้นไม่ได้นำไปลงทุนซื้อน้ำมัน แต่ถูกนำไปจ่ายเป็นปันผลให้กับคนที่ลงทุนมาก่อน ตราบใดที่ยังมีคนใหม่มาลงทุนเพิ่ม คนเก่าที่ลงทุนไว้ก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมเดือนละ 10% ไปเรื่อยๆ ซึ่งนี่ทำให้คนที่ยังไม่ได้ลงทุนเห็นและอยากเข้ามาลงทุนเพราะเป็นหนทางที่จะทำเงินได้ง่ายๆ บางคนอาจจะ “ขายบ้าน” มาลงทุน เพราะ “ถ้าอยู่ได้ถึงปี เงินก็ได้คืนมาหมดแล้ว” ซึ่งผมเชื่อว่ามีหลายคนที่เข้ามาตั้งแต่แรกๆ และอยู่ได้เกินปีแต่น่าเสียดายที่ว่าเขาไม่ได้เงินคืนเลย เพราะเมื่อได้ปันผลมา เขาก็ “โลภ” แทนที่จะเก็บไว้ กลับนำไปลงทุนต่อ ซึ่งทำให้ต้องหมดตัวเมื่อแชร์ “ล้ม”

สุดท้ายของเรื่องความ “บ้าคลั่ง” ของการเก็งกำไรที่แทบทุกประเทศต้องเคยประสบถ้าตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่งเกิดก็คือ การเก็งกำไรในหุ้นที่รุนแรงจนกลายเป็น “ฟองสบู่” แน่นอน ประวัติศาสตร์ได้จารึกเรื่องของ “ฟองสบู่เซ้าท์ซี” และฟองสบู่ในปี 1929 ในตลาดสหรัฐที่มีผลกระทบกว้างขวางทั่วโลกและกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเมื่อ “ฟองสบู่แตก” ราคาหุ้นตกลงมาเหลือเพียงประมาณ 10% แต่ความบ้าคลั่งหรือฟองสบู่ขนาดย่อมๆ นั้นก็เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่ละครั้งก็มักจะทิ้งเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 15-20 ปีขึ้นไป ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับภาพรวมของประเทศอาจจะมีน้อย อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อยู่ในตลาดแล้ว บ่อยครั้งมันเป็น “หายนะ” เกือบทุกครั้งที่เกิดขึ้นนั้น แทบจะไม่มี “สัญญาณเตือน” หรือมีก็ “ไม่มีใครเชื่อ” เหตุเพราะว่า “ฟองสบู่” นั้นมักเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ดีเยี่ยม โดยทั่วไปก็มักจะเริ่มต้นจากเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตดี เศรษฐกิจกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่พื้นฐานใหม่ เช่น “การเปิดเสรีทางการเงิน” “การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” “การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจใหม่” หรือไม่ก็หลายๆ เรื่องประกอบกันที่ทำให้คนเห็นว่า หุ้นนั้นจะมีแต่ขึ้นไปเรื่อยๆ และยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่ทำให้ราคาที่สูงลิ่วนั้นคงอยู่ไม่ได้ ต่อเมื่อหุ้นตกลงมาแล้ว คนถึงได้รู้ว่าราคาที่เห็นนั้นเป็น “ฟองสบู่”

ก่อนที่จะจบบทความนี้ ผมคงต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้หมายความว่าตลาดหุ้นไทยในเวลานี้เป็นฟองสบู่แล้ว เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ ผมเพียงแต่รู้สึกว่าในช่วงเวลานี้ คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังสนใจลงทุนในหุ้นกันมากอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ดังนั้น ถ้าผมจะบอกว่าในช่วงนี้เป็นช่วง “Stocks Mania” หรือคนกำลังคลั่งไคล้ในหุ้น ก็คงไม่ผิดจากความจริงไปมากนัก


http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=55025
 

วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สรุปอบรม 6/10/55 แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

แชร์การอบรมครับ อาจจะมีผิดพลาดบ้างนะครับ ส่วนตัวคิดว่า การแชร์ความรู้ เป็นการทบทวนสิ่งที่เรียนได้ดีที่สุดซึ่งมีประโยชน์ต่อตัวเอง และหวังว่าจะมีประโยชน์กับเพื่อนๆ บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ... จะพยายามแชร์หัวข้อต่อๆไป เพิ่มนะครับ

สรุปอบรม 6/10/55 แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ผลตอบแทนทบต้นทำได้ 15% ต่อปีก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว อย่าไปตั้งเป้ารวยเร็ว ตั้งเป้าเกินตัว บัฟเฟตต์ได้ปีละ 20 กว่า% แต่เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก บางคนตั้งเป้ารวยเร็วเช่น ปีละ 100% แบบนี้อันตราย

การซื้อขายหุ้น 2 แบบ
1.Value Investor ซื้อหุ้นเหมือนซื้อธุรกิจ รวยตามธุรกิจที่เติบโต พบคนล้มเหลวน้อยกว่า
2. Stock Trader ใช้ข้อมูลพื้นฐานมาเก็งกำไร พบคนล้มเหลวที่ลงทุนด้วยวิธีนี้มากกว่า

ดร.นิเวศน์ ซื้อหุ้นเหมือนซื้อธุรกิจ เช่น มาม่า คนกินเป็น 10 ปี เปลี่ยนแปลงยาก สามารถปรับราคาได้

เสริมสุข ตอนนั้น market cap 2000 ล้าน เงินสด 500 ล้าน ยอดขาย 15000 ล้าน กำไร 500 ล้าน คิดว่า 3 ปีก็คืนทุน ราคาถูกมากๆ

Intrinsic Value มูลค่าที่จริง ดร.นิเวศน์ให้นิยามว่า “มูลค่าที่เราห้ามขาย”

ปัจจุบัน สไตล์เล่นหุ้นของคนส่วนใหญ่ จะเน้นการ ขุดหุ้น คล้ายๆ ไปหาหอยที่ดอนหอยหลอด คือ พอกำไรก็ขาย ไปขุดหุ้นตัวใหม่ จนปัจจุบันหาหุ้นที่จะขุดยากขึ้น เหมือนดอนหอยหลอด ก็ไม่ค่อยจะมีหอยแล้ว

เกรแฮม เลือกหุ้นคุณภาพไม่ต้องดีมาก ขอให้ราคาถูกมากๆ บัฟเฟตต์เลือกหุ้นคุณภาพดีมาก ยอมจ่ายในราคายุติธรรม

ลักษณะของกิจการที่มีคุณภาพ
1.กำไรสม่ำเสมอ เพิ่มขึ้นช้าๆ มานาน (เพิ่มเร็วต้องระวัง)
2.หนี้น้อย
3.Net profit margin สูง ROE สูง
4. ผู้บริหารโปร่งใส ไม่โกง ไม่เอาเปรียบ
5.ผู้บริหารไม่ขยายงานมั่วไปหมด
6.มองประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นหลัก

ยุคปัจจุบัน brand ลดความสำคัญลงมาก สิ่งที่สำคัญมากขึ้นคือ เรื่อง ความสะดวกสบาย ยกเว้น brand แฟชั่น เช่น หลุยส์ วิตอง ยังคงมีสำคัญ

คุณภาพของธุรกิจแต่ละประเภท
1. ธุรกิจที่มี brand แข็งแกร่ง ขึ้นราคาได้ ไม่มีสินค้าทดแทน เป็นผู้นำตลาด
2. ธุรกิจสัมปทาน ที่ดีควรจะจ่ายสัมปทานน้อย มีคู่แข่งน้อย ไม่ถูกควบคุมราคา มีกำไรดี
3. สถาบันการเงิน แบงค์ดี เงินทุนไม่ดี หลักทรัพย์ไม่ดี
4. สื่อสาร มือถือดี โทรศัพท์พื้นฐานไม่ดี ทีวีดี
5. สาธารณูปโภค ไฟฟ้าดี น้ำดี ทางด่วนไม่ดี (ลงทุนเยอะ ปริมาณรถเริ่มอิ่มตัว)
6. ธุรกิจมีจุดเด่น มีเทคโนโลยีเหนือคู่แข่ง มีความสามารถในการผลิตสูง
7. ธุรกิจโภคภัณฑ์ เป็นบริษัทส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ผลการดำเนินงานไม่สม่ำเสมอ ไม่เด่น ลูกค้าไม่ยิดติดยี่ห้อ ไม่มีความแตกต่าง ราคาเป็นไปตามตลาดโลก

ข้อสังเกต คนที่รวยมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็น เจ้าของธุรกิจที่ดีมากๆ และคงอยู่มานาน

ดร.นิเวศน์ เวลาประเมินมูลค่ากิจการ ท่านจะดู maket cap เป็นหลัก ว่าสมศักดิ์ศรีหรือไม่

การใช้ PE ใช้กับกิจการที่ทำกำไรเติบโตต่อเนื่อง ไม่เหมาะกับหุ้นวัฎจักรที่บางครั้งกำไรลดลง

ธุรกิจที่เติบโตด้วยการลงทุนหนักๆ ไม่ดี ธุรกิจที่ดีควรขยายโดยการลงทุนน้อยๆ

การลงทุนระยะยาว
1. ต้องอาศัย การรู้กว้าง + รู้จริง มองในภาพใหญ่ คิดแบบเจ้าของธุรกิจ ขยายได้อีกมากแค่ไหน เช่น ธุรกิจขนาดช้าง แต่ตอนนี้น้ำหนักแค่ 40 kg ก็น่าลงทุน แต่ถ้าธุรกิจเป็นแมว แต่ตอนนี้น้ำหนัก 40 kg ไม่น่าลงทุน
2. มี sense มองแนวโน้มธุรกิจ เช่นประเทศกำลังพัฒนาต้องใช้พลังงานมาก ประเทศพัฒนาแล้วเน้นความสะดวกสบาย บันเทิง ธุรกิจโรงงาน พวก OEM ลำบาก เพราะแข่งขันทั่วโลก

บางครั้งการซื้อหุ้น โดยฟังจากคนรอบข้างก็มีประโยชน์ เช่น ดร.นิเวศน์เคยฟังลูกสาวแนะนำว่า google ดี Apple ดี Sumsung ดี (แต่ท่านยังไม่ได้ซื้อ) เพราะคนเหล่านั้นอยู่ในสังคมที่ได้สัมผัสจริงๆ ใช้งานจริงๆ และไม่มีส่วนได้เสียในตลาดหุ้น

คำถามที่ต้องระวัง
1.ขายหุ้นเมื่อไหร่ คำตอบคือขายเมื่อ Over Value แล้วอะไรคือ Over Value ถ้าลงทุนตลอดชีวิต เลือกกิจการดีเยี่ยม เติบโตต่อเนื่อง ก็ไม่จำเป็นต้องขาย
2.การใช้PEG ต้องระวัง ถ้า PE ข้อมูลผิด G ข้อมูลผิด คำนวณสุดท้ายมันก็ผิดหมด (แต่อาจจะ work ก็ได้เพราะทุกคนก็ใช้เหมือนกัน)
3.PE อาจจะไม่มีความหมายมากนัก ให้ดูที่ คุณภาพกิจการ + growth ในระยะยาว
4. ตัวเลขต่างๆไม่ต้องดูมาก เน้นที่การแข่งขันใครจะชนะ ใครแข็งแกร่งกว่ากัน

การลงทุน perception สำคัญที่สุด ดร.นิเวศน์ดู maket cap มากที่สุดในการประเมินมูลค่าหุ้น

ความเข้าใจผิดของคนที่ไม่ได้ลงทุนแบบวีไอ
1.นักลงทนขาใหญ่ มืออาชีพ นักลงทุนสถาบัน ย่อมเก่งกว่านักลงทุนสมัครเล่น >> ไม่จริง เพราะขึ้นกับผลประกอบการบริษัท
2. การลงทุนต้องมีเวลาตามหุ้นมากๆ มีความรู้ในการวิเคราะห์สูง มีเงินมากพอ
3. การลงทุนในหุ้น เป็นเรื่องของการเก็งกำไร คนชอบเสี่ยง ได้เสียเร็ว ถ้าไม่อยากหมดตัวอย่าซื้อหุ้น
4. เล่นหุ้นระยะยาว มีความเสี่ยงสูง การเล่นหุ้นต้องไว เข้าเร็วออกเร็ว

คำถามหลังอบรม
1.ราคาที่เหมาะสม ตาม ทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ Efficient market ดร.นิเวศน์ บอกว่า อย่าไปประเมินราคาตลาดต่ำไป แล้วเชื่อมั่นราคาที่เราประเมินมูลค่าหุ้นด้วยตัวเราเองมากเกินไป เพราะราคาตลาดที่ปรากฏเป็นราคาที่ทุกคนในตลาดให้ราคา ณ ขณะนั้น
2. ดร.นิเวศน์ เปลี่ยนจาก CPN มาเข้า BigC เพราะช่วงนั้น bigC จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซื้อคาร์ฟู โดยที่ไม่เพิ่มทุน หาเงินกู้ได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายผู้บริหาร(คาร์ฟูเดิม) ลดค่าโฆษณา ซึ่งน่าสนใจมาก
3.เปรียบเทียบตอนดัชนี 1700 และ 1300 ในตอนนี้ สิ่งที่เหมือนกันคือ หุ้น IPO เยอะและวิ่งแรง 2. มีการเทคโอเวอร์มาก สัญญาณส่งออกชะลอตัว แต่สิ่งที่แตกต่างคือ หนี้บริษัทจดทะเบียนตอนนี้น้อยกว่าตอนนั้นมาก และนักลงทุนมีหลายกลุ่มเพิ่มขึ้น มีความรู้เพิ่มขึ้น (ดร.สรุปในบทความล่าสุด เดจาวู) ช่วงนี้ตลาดหุ้นขึ้นมาเยอะ ดร.ท่านยังไม่ได้ทำอะไรกับพอร์ต แต่หาโอกาสลงทุนต่างประเทศในกิจการคุณภาพดีๆ ยังไม่แพง
4. เปรียบเทียบเมื่อก่อนกับตอนนี้ ดร.นิเวศน์ต้องใช้เวลาวิเคราะห์หุ้นเพิ่มขึ้น น้อยลงหรือไม่อย่างไร ... ท่านบอกว่า ท่านก็ทำเหมือนเมื่อก่อน ปกติไม่วิเคราะห์มาก แต่เน้นสังเกตในการใช้ชีวิตประจำวัน สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลง แล้วคิดเปรียบเทียบเป็นมุมมองของการแข่งขัน ใครจะชนะ/แพ้

The New Middle Class

The New Middle Class

ในช่วงเร็วๆ นี้ดูเหมือนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ “ยิ่งใหญ่” เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาพร้อมๆ กันทั่วโลก นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่คนมีรายได้ “น้อย” คิดหรือทำตัวคล้ายๆ กับ “ชนชั้นกลาง” โดยเฉพาะในการประท้วง เรียกร้องสิทธิทางการเมือง และต่อสู้เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในอดีตหรือโดยปกติจะเป็นเรื่องของคนชั้นกลางที่มีรายได้ประมาณ 10,000 เหรียญหรือ 300,000 บาทต่อปีขึ้นไปที่มีความมั่นคงในชีวิตและไม่ต้องคำนึงถึงปากท้องประจำวันที่จะคิดและทำ ส่วนคนที่มีรายได้น้อยกว่านั้นในอดีตพวกเขามักจะขาดการศึกษา การเรียนรู้ และข้อมูล ที่มีราคาแพงและพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำพอ แต่ในปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาและการกระจายตัวของอินเตอร์เน็ตที่มีราคาถูก รวมถึงทีวีผ่านดาวเทียม โทรศัพท์มือถือ และข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซ้ต์ต่างๆ ที่คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ได้ฟรี สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้คนที่มีรายได้ “น้อย” สามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตหรือคิดและทำแบบที่ชนชั้นกลางทำ และนี่ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการ “ปฏิวัติประชาธิปไตย” ที่เกิดขึ้นในประเทศย่านแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ที่เรียกกันว่า “อาหรับสปริง” การประท้วงต่อต้านคอร์รัปชั่นและการเรียกร้องสิทธิทางสังคมต่างๆ ในอินเดียและจีน และแน่นอน การประท้วงเรียกร้องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาเร็วๆ นี้โดยเฉพาะของ “คนเสื้อแดง”

คำที่ใช้เรียกคนที่มีรายได้ “น้อย” ที่ทำตัวคล้ายคนชั้นกลางนั้น ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Virtual middle class” หรือ “ชนชั้นกลางเสมือนจริง” ในเมืองไทยนั้น นักวิชาการบางคนเรียกว่า “คนชั้นกลางระดับล่าง” ชนชั้นกลางเสมือนจริงในประเทศอย่างอินเดียหรือจีนนั้น มองกันว่ามีจำนวนหลายร้อยล้านคนหรือพอๆ กับคนชั้นกลางในสองประเทศนั้น ในประเทศไทยเองนั้น คนชั้นกลางระดับล่างนั้นน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนหรือน่าจะเท่าๆ หรือมากกว่าคนชั้นกลางจริงๆ ด้วยซ้ำ ดังนั้น อิทธิพลหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความคิดและการกระทำของพวกเขาจึงมีมหาศาลแทบจะ “เปลี่ยนโลก” หรือ “ปฏิวัติ” แนวทางในการดำเนินชีวิต สังคม และการเมืองของประเทศ

ในส่วนของประเด็นทางเศรษฐกิจที่เราสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากมันมีผลต่อการลงทุนของเรานั้น เรื่องแรกก็คือ คนชั้นกลางระดับล่างหรือผมอยากจะเรียกว่า “คนชั้นกลางรุ่นใหม่” นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่ทำงาน “นอกระบบ” นั่นคือ พวกเขาไม่ได้ทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ที่มีระบบของการบริหารงานบุคคลเป็นมาตรฐาน มีสวัสดิการที่ดี ตรงกันข้าม คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น มักเป็นพ่อค้าแม่ขายตามตลาด เป็นคนขับรถรับจ้าง เป็นพนักงานบริการ เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่เป็น SME ที่ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย หรือเป็นเกษตรกร “มืออาชีพ” พูดถึงรายได้ พวกเขามักจะมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000-20,000 บาท หรือปีละไม่เกิน 180,000-240,000 บาท อย่างไรก็ตามรายได้ของพวกเขามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อานิสงค์จากการที่แรงงานขาดแคลนอย่างหนักและการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล

คนชั้นกลางรุ่นใหม่ของไทยนั้น กำลังบริโภคหลายๆสิ่ง หลายๆอย่างที่คนชั้นกลางทำ ปรากฏการณ์ของ “รถยนต์คันแรก” ที่มียอดขายจำนวนมหาศาลนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากมันมีราคาเพียงไม่กี่แสนและสามารถผ่อนได้ด้วยเงินไม่กี่พันต่อเดือนซึ่งทำให้คนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถซื้อได้ เช่นเดียวกัน คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้นนิยมซื้อคอนโดที่มีราคาที่พวกเขาสามารถผ่อนได้จากเดิมที่บ้านนั้นเป็นความฝันเฉพาะของคนชั้นกลาง นี่ไม่ต้องพูดถึงการผ่อนมอเตอร์ไซต์หรือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่สูง แต่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกหรือเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงสำหรับชีวิตแบบคนชั้นกลางทั่วไป

การซื้อสินค้าของคนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น กำลังเหมือนกับคนชั้นกลางนั่นคือ พวกเขาเข้าห้างค้าปลีกสมัยใหม่ พวกเขาอยากได้สินค้าและบริการที่ดี “ในราคาที่ย่อมเยา” ค่าที่ว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากและโตขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องคุ้มค่าสำหรับธุรกิจที่จะขายให้กับพวกเขา เช่นเดียวกัน คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น กินอาหารในภัตตาคารมากขึ้นมาก อาหารที่ขายในภัตตาคารตามห้างนั้น เนื่องจากปริมาณการขายสูงทำให้มีการ “ประหยัดจากขนาด” ส่งผลให้ราคาต่อมื้อไม่แพงและคนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถกินได้ อาจจะเดือนละหลายครั้ง หรืออย่างน้อยในวันเงินเดือนออก

คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้นมักเป็น “เสรีชน” แบบเดียวกับคนชั้นกลาง พวกเขาไม่ต้องการ “พึ่งพิง” ใครอย่างที่ “คนจน” ในอดีตของไทยต้องทำกับคนที่ร่ำรวยหรือมีสถานะในสังคมที่สูงกว่า เดี๋ยวนี้เราต้อง“ง้อ” ลูกจ้างที่มาทำงานกับเราในที่ทำงานหรือที่บ้าน ความ “เสมอภาค” ของคนในสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จากละครทีวีหลังข่าวที่หนังแนว “แรงเงา” ที่ตัวเอกฝ่ายหญิงนั้นใช้วิธีต่อสู้แบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” กับคนที่ “สูงกว่าทางสังคม” ได้รับความนิยมล้นหลาม ในขณะที่หนังแบบ “บ้านทรายทอง” ที่นางเอกยอมเป็น “เบี้ยล่าง” คนที่ “สูงกว่าทางสังคม” เพื่อที่จะใช้ “ความดี” เอาชนะใจพวกเขานั้น ผมเชื่อว่าจะลดความนิยมลงไปเรื่อยๆ และแม้ว่าจะยังมีคนชื่นชอบอยู่ บทละครก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยมของ “คนรุ่นใหม่” ที่ดูแล้วอาจจะรู้สึกว่าความคิดและการกระทำของนางเอก “ไม่มีเหตุผล”

ลัทธิ “บริโภคนิยม” ที่เป็นเรื่องของคนชั้นกลางในอดีตนั้น แน่นอน ขณะนี้เป็นเรื่องที่คนชั้นกลางรุ่นใหม่รับเข้าไปอย่างเต็มที่ ราคาของสินค้าที่เคยแพงและคนชั้นกลางรุ่นใหม่ไม่สามารถซื้อหาหรือใช้ได้นั้น ปัจจุบันพวกเขาสามารถใช้มัน ผ่านระบบการ “ผ่อนส่ง” ที่มีประสิทธิภาพสูง ดังนั้น พวกเขามีหนี้สินพอกพูนซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะ “ไม่แคร์” พวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ การอดออมเพื่อเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นมีความจำเป็นน้อยลงไปมากหลังจากที่รัฐได้เข้ามาดูแลผ่านโครงการสวัสดิการสังคมที่เรียกว่า “ประชานิยม” หลายอย่างโดยเฉพาะรายการ “30 บาทรักษาทุกโรค”

ในฐานะของ VI นั้น ความเข้าใจในพฤติกรรมของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ผมคิดว่ามีความสำคัญยิ่ง เหตุผลก็คือ พวกเขาเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ใหญ่มาก บริษัทที่สามารถหรือมีโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขาจะสามารถสร้างรายได้และเติบโตไปได้มาก หัวใจก็คือการออกแบบสินค้าและบริการที่มีราคาถูกและ “คุ้มค่า” นอกจากนั้น มันต้องมีคุณภาพที่ดีและให้ความรู้สึกที่ทำให้ผู้ใช้มี “ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจ” เมื่อได้ใช้หรือบริโภคมัน นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์จะต้องสอดคล้องกับ “ไล้ฟสไตล์” หรือแนวทางการใช้ชีวิตของพวกเขา นั่นก็คือ ต้องมีความสะดวกสบายและบริการที่ดี ทั้งหมดนี้จะทำได้ก็จะต้องมีปริมาณธุรกิจที่ใหญ่หรือมากพอที่จะทำให้เกิด Economies of Scale หรือใหญ่พอที่จะทำให้ต้นทุนลดลงมากจนคนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถบริโภคได้ “เป็นประจำ” และถ้าเราสามารถค้นพบบริษัทแบบนี้ การลงทุนก็น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้

http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=55072