สวัสดี

สวัสดีทุกท่านครับ เราจะเป็นสถานที่ๆรวบรวมบทความน่าสนใจที่สร้างมุมมองที่สดใหม่ในการลงทุน เพื่อลับความคมของการลงทุนให้เฉียบ คม เพื่อสร้างพอร์ตโพลิโอไปสู่เส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงิน และหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านครับ

วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

The New Middle Class

The New Middle Class

ในช่วงเร็วๆ นี้ดูเหมือนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ “ยิ่งใหญ่” เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาพร้อมๆ กันทั่วโลก นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่คนมีรายได้ “น้อย” คิดหรือทำตัวคล้ายๆ กับ “ชนชั้นกลาง” โดยเฉพาะในการประท้วง เรียกร้องสิทธิทางการเมือง และต่อสู้เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในอดีตหรือโดยปกติจะเป็นเรื่องของคนชั้นกลางที่มีรายได้ประมาณ 10,000 เหรียญหรือ 300,000 บาทต่อปีขึ้นไปที่มีความมั่นคงในชีวิตและไม่ต้องคำนึงถึงปากท้องประจำวันที่จะคิดและทำ ส่วนคนที่มีรายได้น้อยกว่านั้นในอดีตพวกเขามักจะขาดการศึกษา การเรียนรู้ และข้อมูล ที่มีราคาแพงและพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำพอ แต่ในปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาและการกระจายตัวของอินเตอร์เน็ตที่มีราคาถูก รวมถึงทีวีผ่านดาวเทียม โทรศัพท์มือถือ และข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซ้ต์ต่างๆ ที่คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ได้ฟรี สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้คนที่มีรายได้ “น้อย” สามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตหรือคิดและทำแบบที่ชนชั้นกลางทำ และนี่ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการ “ปฏิวัติประชาธิปไตย” ที่เกิดขึ้นในประเทศย่านแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ที่เรียกกันว่า “อาหรับสปริง” การประท้วงต่อต้านคอร์รัปชั่นและการเรียกร้องสิทธิทางสังคมต่างๆ ในอินเดียและจีน และแน่นอน การประท้วงเรียกร้องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาเร็วๆ นี้โดยเฉพาะของ “คนเสื้อแดง”

คำที่ใช้เรียกคนที่มีรายได้ “น้อย” ที่ทำตัวคล้ายคนชั้นกลางนั้น ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Virtual middle class” หรือ “ชนชั้นกลางเสมือนจริง” ในเมืองไทยนั้น นักวิชาการบางคนเรียกว่า “คนชั้นกลางระดับล่าง” ชนชั้นกลางเสมือนจริงในประเทศอย่างอินเดียหรือจีนนั้น มองกันว่ามีจำนวนหลายร้อยล้านคนหรือพอๆ กับคนชั้นกลางในสองประเทศนั้น ในประเทศไทยเองนั้น คนชั้นกลางระดับล่างนั้นน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนหรือน่าจะเท่าๆ หรือมากกว่าคนชั้นกลางจริงๆ ด้วยซ้ำ ดังนั้น อิทธิพลหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความคิดและการกระทำของพวกเขาจึงมีมหาศาลแทบจะ “เปลี่ยนโลก” หรือ “ปฏิวัติ” แนวทางในการดำเนินชีวิต สังคม และการเมืองของประเทศ

ในส่วนของประเด็นทางเศรษฐกิจที่เราสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากมันมีผลต่อการลงทุนของเรานั้น เรื่องแรกก็คือ คนชั้นกลางระดับล่างหรือผมอยากจะเรียกว่า “คนชั้นกลางรุ่นใหม่” นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่ทำงาน “นอกระบบ” นั่นคือ พวกเขาไม่ได้ทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ที่มีระบบของการบริหารงานบุคคลเป็นมาตรฐาน มีสวัสดิการที่ดี ตรงกันข้าม คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น มักเป็นพ่อค้าแม่ขายตามตลาด เป็นคนขับรถรับจ้าง เป็นพนักงานบริการ เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่เป็น SME ที่ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย หรือเป็นเกษตรกร “มืออาชีพ” พูดถึงรายได้ พวกเขามักจะมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000-20,000 บาท หรือปีละไม่เกิน 180,000-240,000 บาท อย่างไรก็ตามรายได้ของพวกเขามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อานิสงค์จากการที่แรงงานขาดแคลนอย่างหนักและการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล

คนชั้นกลางรุ่นใหม่ของไทยนั้น กำลังบริโภคหลายๆสิ่ง หลายๆอย่างที่คนชั้นกลางทำ ปรากฏการณ์ของ “รถยนต์คันแรก” ที่มียอดขายจำนวนมหาศาลนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากมันมีราคาเพียงไม่กี่แสนและสามารถผ่อนได้ด้วยเงินไม่กี่พันต่อเดือนซึ่งทำให้คนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถซื้อได้ เช่นเดียวกัน คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้นนิยมซื้อคอนโดที่มีราคาที่พวกเขาสามารถผ่อนได้จากเดิมที่บ้านนั้นเป็นความฝันเฉพาะของคนชั้นกลาง นี่ไม่ต้องพูดถึงการผ่อนมอเตอร์ไซต์หรือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่สูง แต่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกหรือเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงสำหรับชีวิตแบบคนชั้นกลางทั่วไป

การซื้อสินค้าของคนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น กำลังเหมือนกับคนชั้นกลางนั่นคือ พวกเขาเข้าห้างค้าปลีกสมัยใหม่ พวกเขาอยากได้สินค้าและบริการที่ดี “ในราคาที่ย่อมเยา” ค่าที่ว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากและโตขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องคุ้มค่าสำหรับธุรกิจที่จะขายให้กับพวกเขา เช่นเดียวกัน คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น กินอาหารในภัตตาคารมากขึ้นมาก อาหารที่ขายในภัตตาคารตามห้างนั้น เนื่องจากปริมาณการขายสูงทำให้มีการ “ประหยัดจากขนาด” ส่งผลให้ราคาต่อมื้อไม่แพงและคนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถกินได้ อาจจะเดือนละหลายครั้ง หรืออย่างน้อยในวันเงินเดือนออก

คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้นมักเป็น “เสรีชน” แบบเดียวกับคนชั้นกลาง พวกเขาไม่ต้องการ “พึ่งพิง” ใครอย่างที่ “คนจน” ในอดีตของไทยต้องทำกับคนที่ร่ำรวยหรือมีสถานะในสังคมที่สูงกว่า เดี๋ยวนี้เราต้อง“ง้อ” ลูกจ้างที่มาทำงานกับเราในที่ทำงานหรือที่บ้าน ความ “เสมอภาค” ของคนในสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จากละครทีวีหลังข่าวที่หนังแนว “แรงเงา” ที่ตัวเอกฝ่ายหญิงนั้นใช้วิธีต่อสู้แบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” กับคนที่ “สูงกว่าทางสังคม” ได้รับความนิยมล้นหลาม ในขณะที่หนังแบบ “บ้านทรายทอง” ที่นางเอกยอมเป็น “เบี้ยล่าง” คนที่ “สูงกว่าทางสังคม” เพื่อที่จะใช้ “ความดี” เอาชนะใจพวกเขานั้น ผมเชื่อว่าจะลดความนิยมลงไปเรื่อยๆ และแม้ว่าจะยังมีคนชื่นชอบอยู่ บทละครก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยมของ “คนรุ่นใหม่” ที่ดูแล้วอาจจะรู้สึกว่าความคิดและการกระทำของนางเอก “ไม่มีเหตุผล”

ลัทธิ “บริโภคนิยม” ที่เป็นเรื่องของคนชั้นกลางในอดีตนั้น แน่นอน ขณะนี้เป็นเรื่องที่คนชั้นกลางรุ่นใหม่รับเข้าไปอย่างเต็มที่ ราคาของสินค้าที่เคยแพงและคนชั้นกลางรุ่นใหม่ไม่สามารถซื้อหาหรือใช้ได้นั้น ปัจจุบันพวกเขาสามารถใช้มัน ผ่านระบบการ “ผ่อนส่ง” ที่มีประสิทธิภาพสูง ดังนั้น พวกเขามีหนี้สินพอกพูนซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะ “ไม่แคร์” พวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ การอดออมเพื่อเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นมีความจำเป็นน้อยลงไปมากหลังจากที่รัฐได้เข้ามาดูแลผ่านโครงการสวัสดิการสังคมที่เรียกว่า “ประชานิยม” หลายอย่างโดยเฉพาะรายการ “30 บาทรักษาทุกโรค”

ในฐานะของ VI นั้น ความเข้าใจในพฤติกรรมของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ผมคิดว่ามีความสำคัญยิ่ง เหตุผลก็คือ พวกเขาเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ใหญ่มาก บริษัทที่สามารถหรือมีโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขาจะสามารถสร้างรายได้และเติบโตไปได้มาก หัวใจก็คือการออกแบบสินค้าและบริการที่มีราคาถูกและ “คุ้มค่า” นอกจากนั้น มันต้องมีคุณภาพที่ดีและให้ความรู้สึกที่ทำให้ผู้ใช้มี “ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจ” เมื่อได้ใช้หรือบริโภคมัน นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์จะต้องสอดคล้องกับ “ไล้ฟสไตล์” หรือแนวทางการใช้ชีวิตของพวกเขา นั่นก็คือ ต้องมีความสะดวกสบายและบริการที่ดี ทั้งหมดนี้จะทำได้ก็จะต้องมีปริมาณธุรกิจที่ใหญ่หรือมากพอที่จะทำให้เกิด Economies of Scale หรือใหญ่พอที่จะทำให้ต้นทุนลดลงมากจนคนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถบริโภคได้ “เป็นประจำ” และถ้าเราสามารถค้นพบบริษัทแบบนี้ การลงทุนก็น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้

http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=55072

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น