เลือกวิธีประเมินมูลค่าหุ้น
โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
การประเมินมูลค่าหุ้นนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์
ศาสตร์ที่ชัดเจนและมีการสอนกันทั่วไปก็คือการใช้ตัวเลขและอัตราส่วนทางการเงินต่าง
ๆ มาคำนวณหามูลค่าของหุ้น ในทางปฏิบัติมีตัวเลขหรืออัตราส่วนอย่างน้อย 4-5
อย่างที่สามารถนำมาใช้ได้ เช่น การใช้ค่า PE หรือราคาเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้น
ค่า PB หรือราคาเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชี ค่า DP
หรือปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้น หรือการหา DCF
หรือการหาค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่บริษัทจะสามารถสร้างได้ในอนาคต
ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีความรู้ทางการเงินขั้นสูง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม
นักวิเคราะห์หุ้นและนักลงทุนที่อิงกับแนวพื้นฐานทั้งหลายซึ่งรวมถึง VI
ส่วนใหญ่ก็มักจะประเมินมูลค่าหุ้นโดยใช้ค่า PE เป็นหลัก โดยอาจจะมีค่า PB
เป็นตัวประกอบบ้าง ดูเหมือนว่าค่า PE จะเป็น “กฎเหล็ก”
ที่จะบอกว่ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นควรจะเป็นเท่าไรสำหรับนักวิเคราะห์และนักลงทุนจำนวนมาก
พูดง่าย ๆ ถ้าหุ้นตัวไหนมีค่า PE ที่สูงลิ่วแล้ว
หุ้นตัวนั้นก็มักจะถูกบอกว่าเป็นหุ้นที่แพงเกินพื้นฐาน ส่วนที่มีค่า PE
ต่ำก็กลายเป็นหุ้นถูก และนี่คือการเน้นใช้แต่ศาสตร์
ไม่ได้ใช้ศิลป์ในการประเมินมูลค่าหุ้นเท่าที่ควร
ศิลป์ที่สำคัญในการประเมินมูลค่าหุ้นนั้น มีมากมาย
แต่ที่ผมจะพูดนั้นเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญและมีความผิดพลาดเกิดขึ้นตลอดเวลา
ศิลป์ที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องว่าเราจะให้ค่า PE เท่าไรสำหรับหุ้นแต่ละตัว
เพราะนี่อาจจะเป็นเรื่องรอง สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ
ศิลปะในการเลือกเครื่องมือหรืออัตราส่วนหรือเทคนิคที่จะใช้ประเมินมูลค่าหุ้นต่างหาก
นั่นก็คือ ผมกำลังบอกว่าเวลาจะประเมินมูลค่าหุ้นนั้น อย่าเริ่มจากการดูค่า PE
เพราะค่า PE นั้น ถ้าเราจะใช้เราควรจะต้องมั่นใจว่า E
หรือกำไรของบริษัทมีความสม่ำเสมอและจะไม่ลดลงในอนาคต ดังนั้น
ถ้าเราไม่แน่ใจว่ากำไรของบริษัทจะมีลักษณะแบบนั้นหรือไม่ เราก็ไม่ควรใช้ค่า PE
เป็นหลักในการประเมินมูลค่าหุ้น ประเด็นก็คือ
หุ้นในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมากและน่าจะเป็นส่วนใหญ่ด้วย
ไม่ได้มีคุณสมบัติอย่างนั้น
บริษัทในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตและขายสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์มักจะมีกำไรขึ้น ๆ
ลง ๆ ตามราคาสินค้าในตลาดโลก ดังนั้น การใช้ค่า PE
จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม บริษัทที่เพิ่งฟื้นตัวและเพิ่งจะมีกำไรนั้น
เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ากำไรนั้นจะต่อเนื่องและไม่ลดลงมาในอนาคต? ดังนั้น
จะใช้ค่า PE ได้อย่างไร? แต่ถ้าไม่ใช้ค่า PE แล้ว เราจะใช้ค่าไหน?
ประเด็นก็คือ ถ้าเราใช้ค่า PB เราจะตีมูลค่าของหุ้นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น
ถ้ามูลค่าทางบัญชีเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้น
หุ้นตัวนั้นควรจะมีราคาเป็นกี่เท่าถึงจะเรียกว่าเหมาะสม 2 เท่า หรือ 3 เท่า
หรือ 10 เท่า? เหนือสิ่งอื่นใด มูลค่าทางบัญชีนั้น อาจจะไม่ใช่ “ของจริง”
เพราะสินทรัพย์อาจจะได้มานานและอาจจะเป็นที่ดินที่มีราคาตลาดสูงกว่านั้น
หรือตรงกันข้าม ทรัพย์สินอาจเป็นโรงงานที่ล้าสมัยและมีค่าน้อยลงมาก ดังนั้น
มูลค่าทางบัญชีก็อาจจะมีความหมายน้อย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ
บริษัทอาจจะไม่ได้อาศัยทรัพย์สินที่จับต้องได้มาทำมาหากิน
บริษัทอาจจะหาเงินหรือสร้างรายได้จากยี่ห้อหรือความนิยมอื่น ๆ ดังนั้น
การประเมินมูลค่าหุ้นจากทรัพย์สินทางบัญชีของบริษัทจึงอาจจะไม่เหมาะสมสำหรับหลาย ๆ
บริษัท สรุปว่า การใช้ค่า PB สำหรับหลาย ๆ
บริษัทก็อาจจะเป็นความผิดพลาดเช่นกัน และอาจจะยิ่งแย่กว่าการใช้ค่า PE
ถ้าเราจะถกเถียงถึงเทคนิคแต่ละอย่างในการใช้ประเมินมูลค่าบริษัทไปเรื่อย ๆ
เราก็จะพบว่าแต่ละอย่างก็มีจุดดีและจุดด้อยถ้าเราใช้กับทุกบริษัทโดยไม่แยกแยะก่อนว่าบริษัทที่เรากำลังวิเคราะห์หรือประเมินนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร
ดังนั้น วิธีที่ดีกว่าก็คือ
เราต้องวิเคราะห์ธรรมชาติของธุรกิจแต่ละบริษัทว่าเป็นอย่างไร
จากนั้นจึงมาดูว่าเราจะใช้เครื่องมืออะไรเป็นหลักในการประเมินมูลค่าหุ้น
และจะใช้อัตราส่วนไหนเป็นตัวประกอบที่จะทำให้การประเมินของเราถูกต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
และนี่ก็คือศิลปะที่ VI จำเป็นต้องมี และต่อไปนี้ก็คือ ตัวอย่างที่ VI
อาจจะลองนำไปพิจารณาใช้
หุ้นกลุ่มที่มีผลประกอบการสม่ำเสมอและกำไรไม่ลดลงในอนาคต เช่น
หุ้นในกลุ่มที่อิงกับการบริโภคและบริษัทเป็นผู้นำ
สินค้าของบริษัทไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาอิงกับตลาดโลก
ซึ่งน่าจะรวมถึงกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ โรงพยาบาล กลุ่มสาธารณูปโภค เช่น รถไฟฟ้า
ทางด่วน การผลิตและจำหน่ายน้ำหรือไฟฟ้า ต่าง ๆ เหล่านี้ เราน่าจะสามารถใช้ค่า
PE เป็นหลักได้ หุ้นสถาบันการเงิน เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ นั้น
เราอาจจะใช้ค่า PE ประกอบกับค่า PB ในการประเมินมูลค่าหุ้นได้ ค่า PE
นั้นพูดถึงการทำกำไร แต่ค่า PB เองก็มีประโยชน์
เพราะทรัพย์สินส่วนใหญ่ของธนาคารเป็นเรื่องของเงินที่น่าจะมีมูลค่าตลาดใกล้เคียงกับมูลค่าทางบัญชี
ดังนั้น PB ที่ต่ำหรือสูงก็สามารถบอกถึงความถูกความแพงได้พอสมควร
หุ้นของบริษัทที่กำลังเติบโตและมีศักยภาพที่จะกลายเป็นซุปเปอร์สต็อกนั้น
บางทีการใช้ค่า PE และ PB ก็อาจจะไม่เหมาะสมและไม่เพียงพอ เราอาจจะมองถึง
Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นว่าในระยะยาวมันควรจะเป็นเท่าไร
หรือไม่ก็เทียบกับหุ้นขนาดใหญ่อื่น ๆ
ในตลาดว่าในที่สุดมันจะมีมูลค่าถึงแค่ไหนเป็นต้น
หุ้นที่มีกำไรไม่สม่ำเสมอหรือเป็นวัฎจักรนั้น การใช้ค่า PE คงไม่เหมาะสม
การใช้ค่า PB
เองก็จะต้องดูว่ามูลค่าทางบัญชีนั้นใกล้เคียงกับมูลค่าตลาดของทรัพย์สินหรือไม่
ถ้าใช่ หรือเราสามารถปรับมูลค่าทางบัญชีให้ใกล้เคียงกับราคาตลาด การใช้ค่า PB
ก็อาจจะมีประโยชน์และดีกว่าค่า PE อย่างไรก็ตาม
การประเมินด้วยวิธีการแบบนี้ความแม่นยำก็อาจจะน้อย ดังนั้น ในกรณีส่วนใหญ่แล้ว
เราก็อาจจะต้องยอมรับอย่างที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ เคยพูดไว้ว่ามัน “Too Hard” หรือ
“ยากเกินไป” ดังนั้น เราไม่ประเมินดีกว่า
การใช้ตัวเลขหรืออัตราส่วนหลาย ๆ
ตัวมาช่วยประกอบกัน รวมถึงการให้น้ำหนักของปัจจัยในการกำหนดมูลค่าของหุ้น เช่น
ปันผล การเติบโตของกิจการ กระแสเงินสดที่ได้รับ และองค์ประกอบอื่น ๆ
ทั้งที่ดีและไม่ดีของบริษัท
จะช่วยให้เราสามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น
แต่ไม่ว่าจะใช้เทคนิคและความรู้ความเข้าใจแค่ไหนก็ตาม พึงระลึกเสมอว่า
ศาสตร์และศิลป์ของการประเมินมูลค่าของกิจการนั้นให้ผลสูงสุดแค่ว่ามัน
“Approximately Right” หรือถูกแบบ “ประมาณว่า..” ไม่ใช่ถูกแบบตรงเป้า ดังนั้น
การเผื่อความปลอดภัยโดยการซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอย่างน้อยอีก
20-30% จึงเป็นสิ่งจำเป็น และถึงกระนั้นแล้วก็ยังไม่เพียงพอ
เราจำเป็นที่จะต้องลดความเสี่ยงลงไปอีกโดยการกระจายการถือหุ้นหลาย ๆ ตัว
อย่างน้อย 5-6 ตัวในกรณีพอร์ตไม่ใหญ่นัก และ กว่า 10
ตัวขึ้นไปในกรณีที่พอร์ตค่อนข้างใหญ่
เพื่อที่จะสามารถรักษาเงินต้นไว้ได้แม้จะเกิดสถานการณ์ที่ร้ายแรงในตลาดหุ้นและหุ้นที่เราลงทุน
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=54358
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น