สวัสดี

สวัสดีทุกท่านครับ เราจะเป็นสถานที่ๆรวบรวมบทความน่าสนใจที่สร้างมุมมองที่สดใหม่ในการลงทุน เพื่อลับความคมของการลงทุนให้เฉียบ คม เพื่อสร้างพอร์ตโพลิโอไปสู่เส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงิน และหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านครับ

วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

สรุป สัมมนาหุ้นรวยได้ # พี่โจ ลูกอิสาน 24/3/56


หุ้นรวยได้กับสุดยอดกูรูนักลงทุนเน้นคุณค่า คุณอนุรักษ์ บุญแสวง
24 มีนาคม 2556 ณ ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก


ขอบคุณพี่โจ สำหรับการสละเวลา และแบ่งปันความรู้ในครั้งนี้ ขอบคุณมากๆ ครับพี่
ขอบคุณพี่บี น้องชิว และทีมงาน Thai VI LowerNorth ทุกท่าน ที่ทำให้งานนี้เกิดขึ้นครับ
หากมีข้อผิดพลาดใดๆ ในเนื้อหาที่สรุปนี้ ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ



PART 1 การวางแผนการเงิน

ความสำคัญของเงิน
ทำไมคนอยากเรียน จุฬาฯ ธรรมศาตร์ ทำไมน้องตั๊กแต่งงานกับคุณบุญชัย ทำไมในคุกมีแต่คนจน >> เงินก็ยังสำคัญ
เงินเป็นทาสที่ดีแต่เป็นนายที่เลว


บางคนพอใจ 15000 บาท/เดือน แต่บางคนพอใจ 15000 บาท/ชั่วโมง You are what you believe
(จากประสบการณ์พี่โจ คุณจะเป็นในแบบที่คุณคิด ด้วย ใจ+สมอง)


เงินเฟ้อ ศัตรูที่มองไม่เห็น
ทรัพยากรจำกัด ประชากรเพิ่ม สินค้าแพง
เงินเฟ้อ ปีละประมาณ 5% ทุก 15-16 ปี สินค้าจะแพงขึ้นเท่าตัว ข้าวราดแกงอาจจะจานละ 100 บาทในอีก 22 ปี
เงินเฟ้อ 5 % ดอกเบี้ยเงินฝาก 2% ขาดทุกเงินฝากทุกปี >> ฝากธนาคารเสี่ยงที่สุด


คนไทยอายุเฉลี่ย 74 ปี สมมุติว่า เกษียณ ที่อายุ 55 แสดงว่าต้องมีชีวิตอยู่อีก 15-20 ปีโดยไม่มีรายได้
เวลาทำงาน สมมุติว่า เริ่มทำอายุ 22-23 มีเวลาทำงาน 38 ปี แต่ต้องมีเหลือเผื่อตอนเกษียณด้วย
เงิน 1 ล้านในวันนี้ อีก 25 ปี จะมีค่าเหลือแค่ 212,000 บาท
ในอนาคต ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นมากที่สุด
โรคที่คนจนห้ามเป็น มะเร็ง เบาหวาน หลอดเลือด ไต เนื่องจากค่ารักษาสูงมาก
เงินใครว่าไม่สำคัญ บางครั้งก็ซื้อได้แม้กระทั่งความเป็นความตาย


วิถีคนยุคใหม่
ไม่แต่งงาน : ทำงาน 1 เลี้ยง 3 (ตัวเอง พ่อ แม่)
แต่งงาน เมียเป็นแม่บ้าน มีลูก 1 : ทำงาน 1 เลี้ยง 7 (ตัวเอง ลูก เมีย พ่อ แม่ พ่อเมีย แม่เมีย)
สังคมมีแนวโน้มเป็นสังคมผู้สูงอายุ


คนส่วนใหญ่ทำงานเพื่อเงิน
คนส่วนน้อย ทำงานเพื่อเงิน และให้เงินทำงาน


เงินจะทำงานได้ดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแก้ว 3 ประการ
1 เงินเริ่มต้น
2 ระยะเวลา
3 ผลตอบแทน


ไอสไตน์ บอกว่า The most powerful force in the universe is compound interest

สมการการทบต้น หรือ สมการเปลี่ยนชีวิต
A*(1+R)N
A เงินต้น
R ผลตอบแทนต่อปี
N จำนวนปีที่ลงทุน


ถ้าต้องการให้ เงิน 300,000 เป็น 100 ล้าน ทำได้ดังนี้
ฝากธนาคาร ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ใช้เวลา 294 ปี
ลงทุนหุ้น ผลตอบแทน 11% ต่อปี ใช้เวลา 56 ปี
ลงทุนหุ้น ผลตอบแทน 64% ต่อปี (พี่โจผลตอบแทนประมาณนี้) ใช้เวลา12 ปี


ผลตอบแทนแบบทบต้น จะเหมือนการเติบโตของต้นไม้ ที่เวลาแตกกิ่ง จาก 2 เป็น 4 เป็น 8 เป็น 16

ผลตอบแทนตั้งแต่ปี 2518-2554
หุ้น 60 เท่า (ถ้านับถึงปัจจุบัน น่าจะประมาณ 90 เท่า (12% ต่อปี)
พันธบัตร 24 เท่า
ฝากธนาคาร 10 เท่า (ปีหลังๆ ดอกเบี้ยต่ำ)
ทองคำ 8 เท่า
สรุปว่า หุ้นดีที่สุด แต่ผันผวนมากที่สุด


ลงทุนหุ้น อย่าเล่นหุ้น
ตลาดหุ้นไม่ใช่บ่อนถูกกฎหมาย
ตลาดหุ้น คือ แหล่งระดมทุนทำธุรกิจโดยไม่ต้องกู้ธนาคาร
คนส่วนใหญ่ดูราคาหุ้นมากกว่าดูธุรกิจ
Value Inversting คือ คำตอบ >> พี่โจบอกว่า พี่ไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น เพียงแต่พี่โจเจอแนวทางที่ถูกต้อง


อยากรวย แต่ไม่มีเวลา ไม่อยากลงแรง ทำอย่างไร
กองทุนรวม
กองทุนหุ้นระยะยาว LTF ดีที่สุด ได้ลดหย่อนภาษี และส่วนต่างราคา
พยายามเลือกกองทุนที่ใช้แนวทาง VI ดูผลงานย้อนหลัง เลือกกองทุนที่ผลงานดีๆ


ลงทุนให้นานที่สุด
อย่าเอาดอกผลออกมาใช้ระหว่างทาง มันจะไม่เกิดการทบต้น
ลงทุนในหุ้นตลอดเวลาไม่ว่าตลาดจะขึ้น ตลาดจะลง โลกจะแตก
อย่าตายเร็ว รักษาสุขภาพ


ออมก่อนรวยกว่า
เพิ่มรายได้
ลดรายจ่าย
ออมก่อนใช้ ไม่ใช่ใช้ก่อนออม (เมื่อก่อน เหลือค่อยออม แต่ปัจจุบัน แบ่งออมก่อน แล้วเหลือค่อยใช้)


ลดรายจ่าย
อะไรที่เราไม่ใช้ แล้วเราไม่ตายก็สามารถลดได้ทั้งนั้น พี่โจเล่าว่า ตอนจบใหม่ๆหาหอพัก หาหลายที่มาก มีตั้งแต่ 5000 3000 จนสุดท้ายมาได้ที่ 1600/เดือน ในห้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้า 3 อย่าง คือ หมอหุงข้าว เตารีด เครื่องเล่นซีดี


การซื้อรถ คือ การใช้งานที่เลวที่สุดของหนุ่มสาว
ไม่มีอะไรผลาญเงินมากกว่าการซื้อรถ # ปีเตอร์ ลินซ์
ค่าใช้จ่ายของรถอาจจะมากถึง 12,000 บาท/เดือน
อาจมีทางเลือกอื่น เช่น รถมือสอง รถเมล์ รถไฟฟ้า


บ้าน สินทรัพย์ที่แพงที่สุด เวลาผ่อน ดอกเบี้ยรวม ราคาจะแพงกว่าราคาบ้านเสียอีก
บางทีเช่า ยังดีกว่าซื้อแล้วผ่อน
ดีที่สุด อย่ามีบ้าน อยู่บ้านเมีย บ้านพ่อแม่ ^^


บัตรเครดิต อย่าใช้ ดอกเบี้ย 18% ต่อปี โหดที่สุด

ประกันชีวิตซื้อแบบจ่ายแล้วไม่ได้คืน อย่าซื้อแบบสะสมทรัพย์ (ฝากเงิน)
สมมุติ จ่ายเบี้ยประกันสะสมทรัพย์ 100,000 ได้คืน 150,000 ในเวลา 25 ปี
บริษัทประกันนำไปลงทุนได้ผลตอบแทนปีละ 5 % ได้เงิน 339,000
แต่ถ้าเรานำเงิน 100,000 ไปลงทุนเองในตลาดหุ้น ได้ผลตอบแทนปีละ 10 % จะได้เงิน 1,083,000
(เสียไปเปล่าๆ 108300 – 150000)


บันไดการใช้ชีวิตการเงิน
นักลงทุน เจ้าของกิจการ 15%
พันธบัตร 4%
เงินฝาก 2%
ผ่อนรถ - 9%
บัตรเครดิต -18%


เราถูกเพราะเหตุผลเราถูกไม่ใช่เพราะคนส่วนใหญ่ทำกัน
ชิวิตเริ่มต้นด้วยการผ่อนจะไม่ได้โงหัวตลอดชีวิต


สรุป ทำงานประจำเพื่อหาเงินออม + ลงทุนตลาดหุ้นแบบเน้นคุณค่า คือ คำตอบ


PART2 คำถาม เจาะเรื่องการลงทุนหุ้น

1 ประเมินสถานการณ์ช่วงนี้อย่างไร ณ 24/3/56
ไม่สามารถเดาตลาดได้ ทำนายไม่ได้หรอกว่า หุ้นจะขึ้น หุ้นจะลง


2 AEC ส่งผลอย่างไรต่อตลาดหุ้นหรือไม่
ประเด็นนี้ยังเลื่อนลอย จับต้องไม่ได้ ปัจจุบัน ธุรกิจก็มีการลงทุน มีการแข่งขันระหว่างประเทศอยู่แล้ว แต่ถ้าเปิด AEC อาจจะสะดวกขึ้นง่ายขึ้น


3 ตลาดไทยตอนนี้ ณ 24/3/56 ร้อนแรงไปไหม
จริงๆ ร้อนแรงมา 4-5 ปีแล้ว การลงทุนให้ดูเป็นรายตัว set ค่อนข้างแพง พี่โจไม่สนใจดัชนี เน้นรายตัว ความผันผวนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องปกติ จะหวังว่าหุ้นจะขี้นขาเดียวเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นต้องมีความรู้การลงทุนที่ถูกต้อง


4 เลือกหุ้นดูอะไรบ้าง มีปัจจัยอะไรบ้างที่ใช้พิจารณา
ราคาหุ้นเคลื่อนไหวตามกำไร ดังนั้นพี่โจจะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีกำไรเติบโตสูงๆ เท่านั้น เจ้ามือตัวจริง คือ กำไร เราต้องประเมิน วิเคราะห์ ตัวอย่างเช่น SF พี่โจทราบจากการคลิ๊กดูเวปบริษัท ดูการประชุมผู้ถือหุ้น แล้วพบว่า
บริษัทจะเปิดเมกะบางนา และจะมีการเปลี่ยนนโยบายการทำบัญชี ทำให้กำไรจะเพิ่มขึ้น ก็ทยอยรับเรื่อยๆ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีคนสนใจมาก พี่โจ อาศัยความขยัน พลิกหินทุกก้อน จึงพบ ตอนนั้นก็ประเมินมูลค่าได้ประมาณ 6 บาท ก็เริ่มทยอยรับประมาณ 3.2 บาท


5 แก่นของ VI
1 หุ้นคือธุรกิจ ไม่ใช่ราคาขึ้นลงรายวัน ซึ่งจะเป็นการแยก VI ออกจากลงทุนแนวอื่น เช่น ช่วงหุ้นตก กิจการยังขายของได้ ยังขยายสาขาได้ ก็ไม่น่ากังวล
2 รู้มูลค่าของสิ่งที่เราจะซื้อ ตลาดหุ้นไม่ได้มีป้ายบอกราคา เราต้องประเมิน ส่วนใหญ่พี่โจจะใช้วิธี PE * eps
3 จะซื้อเมื้อมีส่วนลดมากเท่านั้น (มี MOS)
4 แยกตัวเองออกจากนายตลาดให้ได้ นายตลาดประกอบด้วยคนส่วนมาก มีอารมณ์ขึ้นลง ควรใช้ประโยชน์จากนายตลาด


6 PE ที่เหมาะสมคิดอย่างไร
หลักๆ เทียบกับ SET เช่น cpall มีอำนาจต่อรองสูงในทุกๆ ด้านก็ควรมี PE มากกว่า SET (ให้พรีเมี่ยม) บางบริษัทที่กำไรไม่แน่นอน ก็ให้ค่า PE ต่ำกว่า SET


7 เลือกหุ้น TOP-DOWN หรือ BOTTOM-UP
พี่โจชอบ bottom up บริษัทที่ดี จะดีด้วยตัวมันเอง ไม่ว่า แนวโน้มภายนอกจะเป็นอย่างไร


8 วิธีดูหุ้นฟื้นตัวดูอย่างไร
ดูยาก ถ้าดูได้ถูก รวยมหาศาล แต่ถ้าดูผิดจะแย่มาก เช่น SSI อย่าไปยุ่ง พี่โจแชร์ประสบการณ์เจอหุ้น KAMART เดิมขายเครื่องใช้ไฟฟ้าขาดทุน แต่เริ่มเปลี่ยนธุรกิจมาขายเครื่องสำอาง เริ่มมีกำไร และเห็นผู้บริหารซื้อหุ้นจำนวนมาก เลยเริ่มสนใจ


9 หุ้นเติบโตดูอย่างไร หาสัญญาณเติบโตจากอะไร
หุ้นเติบโตจะดูง่าย เช่น HMPRO CPALL เห็นจากการขยายสาขา แผนงานต่างๆ ขยายกำลังการผลิต แต่ต้องซื้อในราคาที่เหมาะสม
หุ้นวัฎจักรยากที่สุด หุ้นฟื้นตัวยากรองลงมา หุ้นเติบโตดูง่ายที่สุด


10 ณ เวลานี้เลือกหุ้นอย่างไรดี
ไม่ว่าเวลาไหนๆ หลักการไม่เปลี่ยน ซื้อหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น PE ต่ำยิ่งดี ระวังหุ้น PE สูงๆ ตลาดลงมีโอกาสลงแรง มีปันผล มีการเติบโต หลีกเลี่ยงหุ้นร้อน เช่น ค้าปลีกบางตัว พลังงานทางเลือกบางตัว


11 พี่โจมีหุ้นในพอร์ตกี่ตัว ถือเงินสดไหม
ตอนนี้ถือ 20 ตัว ตัวหลัก 10 ตัว แต่แนะนำว่า ถ้าพอร์ตไม่ถึง 10 ล้าน อย่าถือน้อยกว่า 3 ตัว อย่าถือตัวเดียว ประมาณ 5 ตัวกำลังดี ติดตามง่าย ตอนนี้ถือเงินสด 15 % มีประสบการณ์จาก subprime ช่วงนั้นไม่มีเงินสด เหมือนถูกมัดมือมัดเท้า สัดส่วนเงินสดมากน้อยขึ้นอยู่กับเวลาไหนควรโลภ ควรกลัว ส่วน watch list มีประมาณ 200 ตัว


12 สัญญาณวิกฤต มีอะไรบอกไหม
กมร ไม่รู้ว่าจะเป็นระลอกคลื่นหรือพายุร้าย หน้าที่เราคือ เลือกบริษัทที่แข็งแกร่ง เติบโต มี MOS เหมือนเลือกเรือออกทะเล การทำนายตลาดทำได้ยาก โดยเฉพาะที่จะทำนายได้ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นต้องมีคนรวยกว่า วอเรน บัฟเฟตต์


13 แชร์ประสบการณ์ช่วง Subprime
ตอนต้นปีกำไร 66% พอเกิด Subprime กลางปีกำไรลดเหลือ 3% ตอนนั้นใช้มาร์จิ้นด้วยประมาณ 10% มาร์จิ้นด้านดีก็มี แต่ผลเสียมหาศาล คนใช้มาร์จิ้นอาจจะมองโลกแง่ดีเกินไป แต่ควรระวังคำว่า ดวงแตก และช่วงนั้นไม่มีเงินสดเหลือ


14 เวลาเกิดวิกฤต จังหวะรับจะดูตอนไหน
ดูยาก ถูกยังไงก็ไม่กล้าซื้อ แต่เมื่อใดที่ P/BV เท่ากับ 1 น่าซื้อ เพราะจะเท่ากับปี 40 และ subprime ที่จะเด้ง ณ จุดนั้น ปัจจุบัน ประมาณ 2.5-2.6 เริ่มแพง เพราะ เฉลี่ยประมาณ 1.9 (ตอนนี้ควรกลัวมากกว่ากล้า)


15 ถือยาว VS เล่นรอบ
เล่นรอบ ระวังโดนรอบเล่น เช่น cpall ขึ้นแล้วพักแล้วขึ้นต่อ ถ้าบริษัทเติบโตเรื่อยๆ โอกาสขายแทบไม่มี บางครั้งประเมินมูลค่าว่าแพงแล้ว แต่กิจการก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ตอบปรับราคาตามขึ้นเรื่อยๆ เป็น dynamic


16 มองราคาตลาดมากๆ หวั่นไหว ทำอย่างไรดี
อย่าไปจ้องราคามาก เน้นดูกิจการ เช่น โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไปเทคโอเวอร์โรงพยาบาลอื่นๆ มีผลต่อ eps ไหม


17 โบรคไหนวิเคราะห์ดี
พี่โจชอบ Asia plus ภัทร กรุงศรี


18 VI ขายหุ้นตอนไหน
ขายเมื่อเกินมูลค่าที่ควรจะเป็น ขายเมื่อคิดผิด ขายเมื่อเจอตัวอื่นที่ดีกว่า


19 VI ดูกราฟไหม
พี่โจดูราคาบ้าง แต่ไม่ได้ใช้เทคนิคในการซื้อขาย ระวังจะเกิดความสับสน VI มองหุ้นเป็นธุรกิจ เทคนิคมองราคา ถ้าเอามาผสมธาตุไฟอาจแตกได้ เช่น สัปดาห์ที่ผ่านมา เทคนิคบอกขาย VI บอกซื้อ สับสนมาก
ตัวอย่างนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จแบบ VI เห็นมากว่า มีจำนวนมากกว่า ทำไมเราไม่เลือกเส้นทางที่คนส่วนใหญ่พิสูจน์ว่าสำเร็จ แล้วนำไปปฎิบัติ


20 หุ้นประกันภัยดูอย่างไร
รับเงินลูกค้ามาก่อน แล้วนำไปลงทุน บริษัทไหนลงทุนเก่งจะดี ประกันที่ขายผ่านแบงค์ก็ดี ได้เปรียบเรื่องจำนวนสาขา


21 ลงทุนหุ้นจีน A share vs H Share
แบบ A share ต่างชาติลงทุนยาก มีตกแต่งบัญชี แบบ H share อยู่ที่ตลาดฮ่องกง ราคาหุ้นอาจแพงกว่านิดหน่อย แต่เรื่องบัญชีดูดีกว่า


22 BTS vs BTSGIF
หุ้นสามัญโอกาสทำกำไรมากกว่า แต่โอกาสขาดทุนก็เยอะกว่า


http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=55411

วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

ทฤษฎีเล่นหุ้นของนักลงทุน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ทฤษฎีเล่นหุ้นของนักลงทุน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร   
ทฤษฎีเล่นหุ้นของนักลงทุน

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ผมเรียนจบปริญญาเอกทางด้านการเงินในสาขาการลงทุน และได้เรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการเงินต่างๆ มากมาย

ทฤษฎีเหล่านั้น แน่นอน ก่อนที่จะเป็นที่ยอมรับต้องได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงโดยใช้ตัวเลขทางสถิติ แต่พอมาเป็นนักปฏิบัติ เป็นนักลงทุนจริงๆ ผมก็พบว่า ยังมีทฤษฎีอีกมากมาย ที่มีการพูดกันโดยที่ไม่มีการพิสูจน์ ไม่มีการใช้สถิติ แต่เป็นเรื่องที่มาจากประสบการณ์ของคนในวงการที่พูดแล้วมีคนเห็นด้วย และเชื่อว่าน่าจะเป็นความจริง ผมเองเห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ และอาจจะเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงนำเสนอทฤษฎีการลงทุนสักสองเรื่องดังต่อไปนี้

ทฤษฎีแรก คือ ทฤษฎี "งานคอกเทล" ซึ่งเสนอโดย ปีเตอร์ ลินช์ ทฤษฎีนี้บอกว่าภาวะหรือดัชนีตลาดหุ้นนั้น สามารถทำนายได้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในงานเลี้ยงแบบคอกเทลที่ตัวเขา ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนรวมจะประสบ นั่นคือ

ในช่วงที่ 1 ซึ่งมักจะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นได้ตกลงมาระยะหนึ่งแล้ว และไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะขึ้นมาได้อีก คนในงานจะไม่มีใครพูดถึงตลาดหุ้น ที่จริงถ้าพวกเขารู้ว่าลินช์เป็น "ผู้บริหารกองทุนรวม" พวกเขาก็จะพยักหน้าอย่างสุภาพแล้วก็จะรีบเดินจากไป หรือไม่อย่างนั้น ก็จะเปลี่ยนเรื่องอย่างรวดเร็วไปเป็นเรื่องการแข่งฟุตบอล หรือเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังมาถึงในไม่ช้าก็จะหันไปคุยกับหมอฟันเรื่องฟันผุมากกว่า ถ้าลินช์เจอสถานการณ์แบบนี้ ที่คนยินดีที่จะพูดกับหมอฟันมากกว่าผู้จัดการกองทุน เขาบอกว่าเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นกำลังจะขึ้นแล้ว เตรียมเก็บหุ้นได้

ช่วงที่ 2 เมื่อลินช์แนะนำตัวว่าทำมาหากินอะไรแล้ว คนหน้าใหม่จะอ้อยอิ่งอยู่กับเขานานขึ้นเล็กน้อย บางทีอาจจะนานพอที่จะพูดกับเขาว่าหุ้นนั้นมีความเสี่ยงแค่ไหนก่อนที่จะย้ายไปพูดคุยกับหมอฟัน อย่างไรก็ตาม คนก็ยังอยากพูดคุยกับหมอฟันมากกว่า ?เซียนหุ้น? ขณะนั้น หุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นมาแล้วจากช่วงที่หนึ่งประมาณ 15% แต่คนก็ยังไม่ค่อยใส่ใจ ช่วงนี้หุ้นก็น่าจะยังดีอยู่

ช่วงที่ 3 ขณะนี้ ดัชนีหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นไป 30% แล้วจากช่วงที่หนึ่ง กลุ่มคนที่สนใจจะเลิกสนใจหมอฟันและหันมาล้อม ปีเตอร์ ลินช์ คนแล้วคนเล่าจะพยายามดึงเขาออกมาอยู่ข้างๆ ห้อง เพื่อที่จะคุยกับเขาเกี่ยวกับหุ้น แม้แต่หมอฟันก็ยังถามเขาว่าควรจะซื้อหุ้นตัวไหน ทุกคนในงานดูเหมือนจะได้ใช้เงินซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไปแล้ว และต่างก็สนทนากันว่าเกิดอะไรขึ้น

ช่วงที่ 4. นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ ปีเตอร์ ลินช์ จะถูกแขกในงานห้อมล้อม แต่ครั้งนี้ จะเป็นคนอื่นที่จะบอกกับลินช์ว่าหุ้นตัวไหนที่เขาควรซื้อ แม้แต่หมอฟันก็ยังมี "หุ้นเด็ด" ให้เขา 3-4 ตัว และในเวลา 2-3 วันต่อมา เมื่อเขาเปิดหนังสือพิมพ์ดูก็พบว่าหุ้นที่แนะนำทุกตัวนั้นขึ้นกันหมด ลินช์บอกว่าเมื่อเพื่อนบ้านหรือคนในงานเลี้ยงบอกว่าควรจะซื้อหุ้นตัวไหน และเขาหวังว่าตนเองจะได้เชื่อคำแนะนำนั้น มันก็เป็นสัญญาณที่แน่ชัดว่า ตลาดหุ้นได้ขึ้นไปถึงยอดดอยและพร้อมที่จะตกแล้ว รีบขายหุ้นเสียถ้าคุณเป็นนักเล่นหุ้น

ถ้าถามว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยเราในช่วงนี้เป็นอย่างไร ผมวิเคราะห์โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะที่เป็นคนที่อยู่ในแวดวงการลงทุนมานาน และมักได้สัมผัสกับนักลงทุนเป็นจำนวนมาก ผมคิดว่าตลาดหุ้นไทยกำลังอยู่ในช่วงที่สามช่วงท้ายๆ นั่นก็คือ มีคนสนใจและถามเรื่องตลาดหุ้น และตัวหุ้นกับผมเป็นจำนวนมาก บางคนก็เริ่มแนะนำหุ้นให้ผมและผมพบว่าหุ้นเหล่านั้นปรับตัวขึ้นเร็วมากและผมเสียดายที่ไม่ได้ซื้อไว้ ซึ่งนี่เป็นสัญญาณของช่วงที่สี่ อย่างไรก็ตาม คนที่แนะนำผมนั้น ยังไม่ใช่ "หมอฟัน" หรือคนที่เป็นมือใหม่อย่างในทฤษฎีของ ปีเตอร์ ลินช์

ทฤษฎีที่สองผมขอเรียกว่า ทฤษฎี "ปลาใหญ่-ปลาเล็ก" นี่เป็นทฤษฎีของใครผมไม่ค่อยแน่ใจ แต่ถ้าจำไม่ผิด คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเคยพูดไว้ เขาพูดว่าการเล่นหุ้นในตลาดนั้น บางทีก็เหมือนกับการหากินของฝูงปลา ที่มักไปกันเป็นฝูง นั่นคือ ปลาตัวใหญ่จะว่ายนำ ส่วนปลาตัวเล็กจะว่ายตาม ในยามที่อาหารอุดมสมบูรณ์ ปลาทุกตัวต่างก็อิ่มหมีพีมันกันหมด แต่เมื่ออาหารร่อยหรอไปจนหมด สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ ปลาใหญ่ก็จะหันกลับมากินปลาเล็กเป็นอาหารแทน

เปรียบไปก็เหมือนกับการเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ "ขาใหญ่" หรือนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดนั้น ในยามที่ภาวะตลาดดี พวกเขาก็มักจะเป็นผู้ "ซื้อนำ" ในหุ้นบางตัวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเก็งกำไร เช่น กำลังมีผลประกอบการที่ดีเยี่ยม มีข่าวน่าตื่นเต้น และเป็นหุ้นที่มีขนาดเล็ก หรือไม่ใหญ่เกินไป เป็นต้น การซื้อนำพร้อมๆ กับการกระจายข่าวออกไปในตลาดนั้น ทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยจำนวนมากแห่ซื้อตาม ผลก็คือ ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นไปอย่างโดดเด่น คนที่เข้ามาลงทุนเกือบทุกคนต่างก็ "อิ่ม" หรือได้กำไรกันหมด ทุกคนมีความสุข

พอถึงจุดที่ตลาดตกต่ำหรือหุ้นที่ถูกนำมาเล่นตกลงมาอย่างแรง เนื่องจากเหตุผลอะไรก็ตาม รายย่อยต่างก็ขาดทุนกันจำนวนมาก แต่รายใหญ่ซึ่งเป็นคนซื้อนำนั้น มักจะขายหุ้นทำกำไรไปก่อนแล้ว นี่เท่ากับว่า ในท้ายที่สุด นักลงทุนรายใหญ่ก็ "กิน" นักลงทุนรายย่อยหลายๆ คนที่ "หนี" หรือขายหุ้นไม่ทันก่อนที่มันจะตกลงมา

ถ้าถามว่าผมเชื่อในทฤษฎีทั้งสองหรือไม่ คำตอบ ก็คือ ผมคิดว่ามันมีส่วนที่เป็นจริงอยู่พอสมควรทีเดียว แต่ถ้าถามว่าผมจะมีปฏิกิริยาอย่างไรคำตอบสำหรับทฤษฎีของ ปีเตอร์ ลินช์ ก็เช่นเดียวกับความคิดของตัว ปีเตอร์ ลินช์ เอง นั่นก็คือ ผมไม่สนใจเรื่องภาวะตลาดหุ้น ผมคิดว่าหากหุ้นที่ผมถือนั้นเป็นกิจการที่ดีเยี่ยม มันก็มักดูแลตัวมันเองได้ไม่ว่าในภาวะตลาดไหน ส่วนในทฤษฎีที่สองนั้น ผมก็ต้องสร้าง "วินัย" ให้กับตัวเองว่า เราจะไม่เป็น "ปลาเล็ก" จริงอยู่ เราอาจจะ "อิ่มท้อง" หรือทำกำไรได้ง่ายๆ จากการ "หากิน" หรือซื้อหุ้นตาม "ปลาใหญ่" หรือรายใหญ่ที่กำลัง "โปรโมท" หุ้น เพราะผมคิดว่าการทำแบบนี้มีความเสี่ยงพอสมควร และถ้ามันเกิดขึ้น คุณก็จะกลายเป็น "อาหาร" นั่นก็คือ เสียหายหนักจากการลงทุนได้
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=43816&p=673128&hilit=%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99#p673128
 

เคล็ดลับวิเคราะห์หุ้น สูตร “ปีเตอร์ ลินช์”

เคล็ดลับ “ปีเตอร์ ลินช์”
เคล็ดลับวิเคราะห์หุ้น สูตร “ปีเตอร์ ลินช์”

ชื่อ:  51.jpg
ครั้ง: 989
ขนาด:  37.0 กิโลไบต์

นอกจากเทคนิคที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนแล้ว ปีเตอร์ ลินช์ ยังมีวิธีที่จะดูว่าบริษัทนี้มีค่าน่าสนใจแค่ไหน โดยดูจาก “รายได้” กับ “สินทรัพย์” ถ้าหากนักลงทุนมองเห็นคุณค่าของหุ้นก่อนตัดสินใจซื้อโอกาสผิดหวังก็จะน้อย

การวิเคราะห์ว่า ราคาหุ้นอยู่บนพื้นฐานของรายได้ และสินทรัพย์ที่เหมาะสมหรือไม่นั้น ตัวหนึ่งที่ต้องดู คือค่า พี/อี เรโช ซึ่งควรจะต่ำกว่าอัตราการเติบโตของกำไรเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าหาก พี/อี เรโช ของบริษัท “โคคา-โคลา” เท่ากับ 15 เท่า คุณก็ตั้งความหวังง่ายๆ คือ บริษัทต้องเติบโตปีละ 15% ถ้าพี/อี เรโชต่ำกว่า 0.5 เท่า ของการเจริญเติบโต ถือว่าเป็นกิจการที่น่าสนใจมาก

แต่หาก พี/อี เรโช ของบริษัท “โคคา-โคลา” เท่ากับ 30 เท่า แต่กำไรเติบโตขึ้นปีละ 15% ถ้าพี/อี เรโช สูงกว่า 2 เท่าของการเจริญเติบโต ควรขายหุ้นทิ้งในความคิดของนายลินช์ ไม่ได้หมายความว่าการซื้อหุ้นที่มี พี/อี เรโช ต่ำจะกำไรเสมอไป

ทำไมคนจึงชอบหุน พี/อี เรโช สูง นายลินช์บอกว่า ก็เพราะว่านักเล่นหุ้นยอมจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อ “ซื้ออนาคต” ของหุ้นตัวนั้น ซึ่งหมายถึง “การเติบโต” หุ้นที่ควรจะมี พี/อี เรโช สูง จึงควรจะเป็นหุ้นที่อยู่ในช่วงของการเติบโต ขณะเดียวกัน หุ้นที่มี พี/อี เรโช ต่ำ จะเป็นหุ้นประเภทโตช้า ถ้าเป็นหุ้นวงจร พี/อี เรโช จะสูงๆต่ำๆ บางช่วงก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

สูตรของนายลินช์ การศึกษา พี/อี เรโช ให้ถ่องแท้ต้องดูย้อนหลังหลายๆปี เพื่อหาค่าพี/อี เรโช ปกติของธุรกิจแล้วนำมาเปรียบเทียบกับการเติบโตของหุ้นตัวนั้น แต่ข้อสังเกตที่สำคัยของแกก็คือว่า ถ้าเราจะซื้อหุ้นที่มี พี/อี เรโช สูง (กว่าค่าเฉลี่ยมากๆ) ต้องไม่ใช่หุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง เพราะสามัญสำนึกของนายลินช์แกบอกว่าหุ้นพวกนี้ จะทนแรงเสียดทานของการแข่งขันได้ไม่นาน จำง่ายๆ ว่า “จงหลีกเลี่ยงหุ้นที่มี พี/อี เรโช สูงเกินไป”

ข้อสังเกตของปีเตอร์ ลินช์ น่าสนใจทีเดียว ถ้าหากว่าเราสังเกตว่าหุ้นตัวไหนราคากำลังพุ่งสูงขึ้นไปอย่างมากมาย เมื่อเทียบกับโอกาสที่จะทำรายได้ อย่างเป็นกอบเป็นกำ ก็ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่างานนี้คงเจอ “ปั่นหุ้น” เข้าให้แล้ว เพราะราคาที่ขึ้นไปไม่สมเหตุสมผล ภาพที่เห็นจึงเป็น “ภาพลวงตา” อย่าเพิ่งตาลุกกับหุ้นประเภทนี้


บางครั้ง นายปีเตอร์ ลินช์ ที่ใครต่อใครเรียกแกว่าเซียนเหนือเซียนก็ยังจนด้วยเกล้าที่จะทำนายทิศทางกำไรของหุ้น แกก็เลยบอกว่าเอายังงี้ก็แล้วกัน เราพอจะคาดเดาการเพิ่มของ “รายได้” โดยดูจากพื้นฐาน 5 ประการ คือ


หนึ่ง บริษัทนี้มีแผนลดค่าใช้จ่ายหรือไม่

สอง บริษัทนี้ปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นรึไม่

สาม บริษัทนี้มีแผน่ขยายฐานลูกค้ารึไม่

สี่ บริษัทขยายฐานลูกค้าในตลาดเดิมอย่างไร

ห้า บริษัทนี้มีวิธีจัดการกับบริษัทในเครือที่ขาดทุนอย่างไร

ทุกครั้งก่อนที่คุณตัดสินใจซื้อหุ้น นายลินช์แนะนำว่า คุณต้องถามตัวเองให้แน่ใจว่าทำไมถึงซื้อหุ้นตัวนี้...? โอกาสที่บริษัทจะประสบความสำเร็จมีสูงเพียงใด...? และโอกาสที่จะล้มเหลวมีมากเพียงใด...? ถ้าหุ้นตัวไหนไปคุยกับใครก็รู้จักหมดอย่านี้โอเค แต่ถ้าหุ้นตัวไหนคุยกับใครก็ยังไม่รู้ว่าทำกิจการอะไร หุ้นแบบนี้นี่แหละจะเป็นปัญหา


จากประสบการณ์สอน นายปีเตอร์ ลินช์ ว่า ถ้าเป็นหุ้นโตช้า คุณอย่าไปหวังอะไรมากให้นอนรอกินเงินปันผล แล้วได้ปันผลเท่าไรจึงจะคุ้ม

ชื่อ:  bcoms2008122314544.gif
ครั้ง: 979
ขนาด:  14.9 กิโลไบต์

ลินช์ให้แง่คิดว่าลงทุน 10 ปีต้องคุ้ม (คิดว่าต้องปันผลปีละ 10% ขึ้นไป) ถ้าเป็นหุ้นประเภทวงจร ต้องรู้ว่าวงจรของธุรกิจกี่ปี ต้องซื้อตอนวงจรเริ่มขึ้น ถ้าเป็นหุ้นยักษ์ใหญ่ต้องดู พี/อี เรโช ต่ำๆ เข้าไว้ ถ้าเป็นหุ้นตีกลับต้องดูการปรับตัวของธุรกิจ ถ้าเป็นหุ้นโตเร็ว ต้องดูว่าจะโตไปทางไหน ถ้ากำลังโต และไม่มีหนี้สิน อย่างนี้โอเคปลอดภัย

ความสำเร็จของนายลินช์ ว่ากันว่า เป็นเพราะนิสัยของแกเองที่จัดอยู่ในกลุ่มมนุษย์เควชั่นมาร์ค(?) หรือพวกขี้สงสัย

วิธีการหาข้อมูลจากโบรกเกอร์ นายลินช์ ชี้แนะว่า อย่าหลับหูหลับตาเชื่อ เราเสียเงินค่าคอมมิชชั่นให้แล้วต้องใช้งานให้คุ้มค่าหน่อย อย่างแรกต้องถามว่า หุ้นที่โบรกเกอร์แนะนำเป็นหุ้นประเภทไหน โตช้า โตเร็ว หรือ หุ้นวงจร ถ้าเขาบอกว่าเป็นหุ้นโตเร็ว ก็ถามต่อว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โตเฉลี่ยปีละเท่าไร

เท่านั้นยังไม่พอ ให้ถามต่อไปอีกว่า พี/อี เรโช ย้อนหลัง 3 – 5 ปีของหุ้นตัวนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณกี่เท่า แล้วสภาพตลาดตอนนี้น่าซื้อหรือไม่ ราคาที่คุณบอกขึ้นมามากแล้วหรือยัง ฐานะการเงินบริษัทนี้เป็นอย่างไร มีหนี้มากมั้ย และก่อนที่จะซื้อยังจะต้องถามอีกว่าไอ้ที่คุณบอกมาทั้งหมดลองสรุปซิว่า “ทำไมถึงคิดว่าหุ้นตัวนี้น่าซื้อ”


ถ้าเหตุผลเป็นว่า “มีข่าววงในว่ารายใหญ่กำลังเข้าเก็บ” หรือ “สัญญาณทางเทคนิคกำลังสวย” อย่างนี้ถอยดีกว่า แสดงว่ามาร์เก็ตติ้งของคุณไม่ได้ทำการบ้านเลย

ปีเตอร์ ลินช์ ยังแนะนำอีกว่า เวลาเจาะข่าวผู้บริหาร อย่าไปถามว่าเป็นไงครับปีนี้มีข่าวดีอะไรบ้าง? แสดงว่าคุณไม่มี “กึ๋น” ให้ถามว่ายอดขายปีนี้โตขึ้นบ้างรึเปล่าครับ ตอนนี้ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไรแล้ว จริงมั้ยครับที่มีข่าวว่า ช่วงนี้สินค้าขายดีมาก หรือได้ยินข่าวว่าปีนี้จะลดภาระหนี้สินลงใช่มั้ย เราตั้งเป้าเหลือเท่าไร หรือว่าปีนี้จะขยายโรงงานมีแผนต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นมากมั้ย

อีกวิธีหนึ่งที่นายลินช์ บอกว่าสำคัญ คือ การอ่านรายงานประจำปีของบริษัท แกเน้นให้ดูที่งบดุล ในส่วนของทรัพย์สิน และหนี้สิน บริษัทที่ดีทรัพย์สินต้องเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกระแสเงินสด และหนี้สินระยะยาวต้องลดลง ถ้าหนี้สินระยะยาวสูงกว่าทรัพย์สินหมุนเวียน แสดงว่าฐานะบริษัทกำลังอ่อนแอลง

อีกสูตรหนึ่ง ให้เอาตัวเลขคาดการณ์กำไรและเงินปันผลเข้ามาพิจารณาด้วย เพื่อดูการเติบโตของบริษัทนั้นเป็นอย่างไร วิธีนี้ยุ่งยากนิดหน่อย โดยสมมติว่า ถ้าบริษัทเติบโตขึ้นปีละ 12% ให้เอาไปบวกกับเงินปันผลจ่าย เช่น 3% รวมเป็น 15% แล้วหารด้วย พี/อี เรโช สมมติอยู่ที่ 10 เท่า จะได้ค่าออกมา 1.5 ถือว่าพอใช้ได้

ถ้าค่าที่ได้ออกมาต่ำกว่า 1 แสดงว่าแย่ แต่ถ้าเกิน 2 ขึ้นไปถือว่าดี ความหมายก็คือว่า หุ้นที่ดีกำไรต้องเติบโตสูงกว่าค่า พี/อี เรโช ยิ่งโตกว่าก็ยิ่งดี และถ้าเป็นหุ้นที่จ่ายปันผลสูงก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ ถ้าเจอหุ้นอย่างนี้มีโอกาสถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่

นายปีเตอร์ ลินช์ แกไม่ชอบหุ้นที่มีหนี้สินมากเกินไป แกบอกว่า “น่ากลัว” แกชอบหุ้นที่มีกระแสเงินสดหมุนเวียนสูง และภาระหนี้สินไม่มาก หุ้นที่ดีต้องมีกระแสเงินสดหมุนเวียนเท่ากับ 20% ของราคาหุ้น เช่น หุ้นราคา 20 ดอลลาร์ อย่างน้อยบริษัทต้องมีเงินสดประมาณหุ้นละ 4 ดอลลาร์ นี้ถือว่าดี ถ้ามีเงินสด 2 ดอลลาร์ (10%) ก็พอใช้ได้ ถ้าต่ำกว่านี้ไม่ดี

ส่วนหุ้นที่จ่ายปันผลงามกับบริษัทที่เติบโตอย่างเข้มแข็ง แกจะเลือกหุ้นที่เติบโตก่อน นายลินช์ ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าหุ้นโตช้า และยังไม่จ่ายปันผลอีก อนาคตหุ้นตัวนี้ลำบาก ถ้าเป็นหุ้นโตช้าแต่จ่ายปันผลงามทุกปี หุ้นอย่างนี้มั่นคงปลอดภัยพอสมควร

กุญแจ 5 ดอกอย่างย่อ / ดร. ชาคริต สุวรรณโชติ

 
 
กุญแจ 5 ดอกของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า แปลโดยคุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข(ต้นฉบับมาจาก The 5 Keys to Value Investing เขียนโดย J. DennisJean-Jacques) นับว่าเป็นแนวคิดที่ผมเชื่อว่าเป็นต้นแบบหนึ่งที่ดีที่สุดของการลงทุนแนวพื้นฐานหรือที่หลายๆท่านเรียกว่าValue Investment (VI) แนวคิดที่ว่าประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 5อย่าง ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางที่เรายึดถือปฏิบัติได้จริงก่อนพิจารณาลงทุนในบริษัทหนึ่งๆกุญแจ 5 ดอกกับการประยุกต์ใช้ที่ว่า ได้แก่

1. ธุรกิจการพิจารณาตัวธุรกิจที่เราจะลงทุนควรจะเริ่มจากการที่เราเข้าใจในธุรกิจนั้นๆอย่างถี่ถ้วน ว่าธุรกิจนั้นๆมีการเข้าออกของเงินอย่างไรปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อรายจ่ายและรายได้ของตัวบริษัทคืออะไรความเสี่ยงของตัวธุรกิจคืออะไรรวมไปถึงธรรมาภิบาลของผู้บริหารในบริษัทนั้นๆ เป็นอย่างไรข้อมูลส่วนนี้เราอาจจะหาเบื้องต้นได้จาก แบบ 56-1 ซึ่ง download ได้จากset.or.th หรือ sec.or.th อย่างน้อยๆ สิ่งที่เราควรจะต้องผ่านตาคือ บทของBusiness, Product, Risk, Financial ใน แบบ 56-1 นอกจากนั้นข้อมูลอื่นๆอาจจะหาได้จากบทสัมภาษผู้บริหาร, Oppday, AGM, หรือเว็บไซท์ของบริษัท

2. มูลค่าที่เหมาะสมมูลค่าที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่บอกด้วยตัวเลขที่แน่นอนค่อนข้างยากมูลค่าที่เหมาะสมของตัวเราอาจจะไม่เท่ากับของคนอื่นเนื่องจากแต่ละคนมีสมมุติฐานในการคำนวณมูลค่าแตกต่างกันปกติแล้ววิธีการคำนวณมูลค่ามีหลายวิธี ที่นิยมใช้กันมากคือใช้ค่า P/Eไปจนถึงวิธีที่ต้องใช้สมมติฐานค่อนข้างเยอะคือ DCF ผมมองว่าการใช้ P/Eในการบอกมูลค่าที่เหมาะสม จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เนื่องจากค่าP/E ที่เราให้กับบริษัทหนึ่งๆ ค่อนข้าง subjectiveเรามักจะต้องสั่งสมประสบการณ์ในตลาดพอสมควรจึงจะบอกได้ว่า P/Eที่เหมาะสมของบริษัทนั้นนี้ น่าจะมีค่าเท่าไหร่ ซึ่งการอยู่ในตลาดนานๆและการมองค่า P/E ของบริษัทในอดีตประกอบ จะทำให้เราเข้าใจและให้ค่า P/Eกับบริษัทในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมได้ดีขึ้น สำหรับ DCFนั้นต้องใช้องค์ประกอบหลายตัวในการคำนวณโอกาสในการผิดพลาดก็ยิ่งจะมากขี้นไปอีกสำหรับหนังสือเล่มนี้ใช้วิธีการหามูลค่าที่เหมาะสมหลายๆวิธีแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยอีกทีซึ่งผมก็คิดว่าทำให้เราได้ค่าที่ออกมาไม่โอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป

3. ราคาหุ้นสำหรับปัจจัยนี้ ผมคิดว่าเป็นแค่ตัวที่ใช้อ้างอิงให้เรารู้ว่า ณ เวลานี้เราควรลงทุนกับบริษัทนี้หรือไม่ ซึ่งเราอาจจะมีกฏการลงทุนของเราเอง เช่นในกรณีที่ค่า P/E ของทั้งตลาด < 10เราอาจต้องการลงทุนในบริษัทที่ราคาหุ้นในปัจจุบันมีส่วนลดจากมูลค่าที่เหมาะสมที่เราคำนวณได้ในข้อ 2 มากกว่า 50% หรือในกรณีที่ P/E ของทั้งตลาด >10เราอาจจะหาบริษัทที่มีส่วนลดดังกล่าวยากเราอาจจะกำหนดให้ส่วนลดที่ว่าเป็น มากกว่า 30% ในหนังสือการลงทุนเล่มนี้กล่าวไว้ว่า เราควรรู้ที่มาที่ไปของราคาด้วย หมายถึงสาเหตุอะไรที่ทำให้ราคาหุ้นขณะนั้นอยู่ที่เท่านั้น เราสามารถดูค่า P/Eที่ตลาดมอบให้กับหุ้นตัวนั้นในเวลานั้นๆพร้อมกับเวลาในอดีตมาประกอบในการคิดพิจารณา บางครั้งตลาดอาจจะให้ค่า P/Eของบริษัทต่ำประมาณ 5-6 ซึ่งเราอาจจะหาข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่าบริษัทให้ปันผลในอัตราต่ำมาโดยตลอด หรือกำไรของบริษัททำนายได้ยากปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ทำให้ตลาดมองข้ามบริษัทนี้ไปส่วนตัวผมกลับมาว่าจริงๆแล้วบริษัทที่ว่าอาจสร้างโอกาสทองให้เราได้ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือตัวเร่งขึ้น ไม่ภายในก็ภายนอกจนทำให้พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนไปในทางที่มีแนวโน้มให้ตลาด ปรับ P/Eของบริษัทให้สูงขึ้น

4. ตัวเร่งการลงทุนแบบ VI ไม่ใช่การลงทุนแบบถือยาวแต่เป็นการลงทุนในบริษัทที่มีราคาซื้อขายในตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่เราคำนวณได้และเชื่อว่าราคาหุ้นดังกล่าวจะ รับตัวขึ้นไปยังมูลค่านั้นๆในระยะเวลาที่เหมาะสม จริงๆแล้วการถือหุ้นเป็นระยะเวลานานเกินไปกว่าราคาจะปรับขึ้นไปยังเป้าหมายที่เราคาดไว้อาจทำให้ผลตอบแทนต่อปีที่เราได้ลดลงเนื่องจากเรามีต้นทุนอีกตัวที่คอยลดหลั่นผลตอบแทนที่เราจะทำได้เรียกว่าต้นทุนเวลาซึ่งตัวเร่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เราลดต้นทุนดังกล่าวเราอาจจะพบตัวเร่งได้จากข้อมูลที่ประกาศใน set.or.thก่อนตลาดเปิดช่วงเช้า ช่วงบ่าย หรือแม้แต่หลังตลาดปิด หรือจากบทสัมภาษผู้บริหารและการถามตอบใน Oppday หรือ AGM รวมทั้ง CompanyVisit ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากเราอาจจะได้ข่าวสารมาจากหลายแหล่งทุกทั่วสารทิศเราจึงควรประเมินตัวเร่งดังกล่าวอีกครั้งว่ามีโอกาสเกิดมากน้อยเพียงไรการพิจารณาเป็นกรณีๆไปถึงโอกาสเกิดของตัวเร่งแต่ละตัวอันจะส่งผลให้ราคาในตลาดวิ่งไปหามูลค่าที่เหมาะสมที่เราคาดไว้จะช่วยให้เราประเมินคร่าวๆ ได้ถึงผลตอบแทนที่คาดหวังได้ใน ช่วงเวลาหนึ่งๆ

5. ส่วนเผื่อความปลอดภัยปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุดในการเลือกลงทุนในบริษัทหนึ่งๆส่วนเผื่อความปลอดภัยในความหมายของผมไม่ใช่ Upsideหรือความแตกต่างระหว่างราคาปัจจุบันกับราคาเป้าหมายแต่เป็นความแตกต่างระหว่างราคาในปัจจุบัน กับราคาที่อาจจะเป็นไปได้ในกรณีที่เกิดอะไรแบบผิดคาด พูดง่ายๆ คือการที่เรามอง Downside risk ทางด้านราคาเป็นหลักไว้ก่อนนั่นเองการบอกถึงค่าที่แน่นอนของส่วนเผื่อความปลอดภัยนั้น ยากไม่แพ้การประเมินUpside ส่วนตัวผมคิดว่ายากกว่าการหา Upside ซะด้วยซ้ำเนื่องจากผมมองว่ามีหลายๆปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดสำหรับตัวผมเอง ผมมักจะดู อัตราเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับจากผลประกอบการที่คาดว่าจะเป็นในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่ตลาดชอบอัตราเงินปันผล > 10% และไม่ค่อยให้ราคาต่ำกว่านั้นยกเว้นในกรณีที่เกิดวิกฤติ นอกจากดูอัตราเงินปันผลแล้วผมมักจะดูถึงกระแสการลงทุนในขณะนั้น ว่าผมอยู่ในกลุ่มในของการลงทุน เช่นกลุ่มแรกที่พบบริษัทนี้ กลุ่มที่สองที่ซื้อตามกลุ่มแรกหรือกลุ่มที่สามที่พบหลังสุดที่ลงทุนเมื่อทุกคนต่างก็พูดถึงหุ้นตัวนั้นๆแล้ว การดู technical และ กราฟประกอบจะทำให้เราเห็นภาพได้ชัดขึ้นส่วนตัวไม่ชอบที่จะลงทุนในกลุ่มที่สามเนื่องจากส่วนใหญ่กลุ่มที่สามนี้มักจะได้ซื้อหุ้นในราคาที่มีส่วนลดน้อยกว่ากลุ่มอื่นและมีความเสี่ยงของการตกของราคาหุ้นในกรณีที่เกิดเหตุการที่ไม่คาดฝันในทางลบแม้เพียงนิดเดียว ตามการที่เราประมาณการได้ว่าเรามีโอกาสที่จะขาดทุนได้เท่าไหร่เมื่อเราลงทุนในบริษัทนั้นๆ เวลานั้นๆทำให้เรามองเห็นส่วนเผื่อความปลอดภัยที่เรามีและช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาเงินต้นของเราได้

ท้ายที่สุดแล้ว การลงทุนไม่มีรูปแบบที่แน่นอนแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยยีดหลักแนวทางพื้นฐานที่เหมาะสมจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่เหมาะสมเช่นเดียวกันในระยะยาวขอให้ทุกๆท่านโชคดีในการลงทุนครับ


ดร. ชาคริต สุวรรณโชติ