เป็นสรุปเนื้อหาจากหนังสือ ‘บัฟเฟตต์-โซรอส ลงทุนถูกนิสัย ยังไงก็ชนะ’
(The Winning Investment Habits of Warren Buffett & George Soros)โดยเพื่อนผมเองครับ สรุปไว้เยอะมากๆ
เคยโพสลงใน forum ผมเลยเอามาขึ้นหน้าหลักอีกทีครับ
####
หลังจากมีการลงทุนของบัฟเฟตต์-โซรอส ก็เลยอยากเอาความรู้มาแบ่งปันเพื่อนๆสักหน่อย แหะๆ เอาเป็นว่าสรุปย่อๆละกัน หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงความแตกต่างของนักลงทุนชั้นเซียน (คุณปู่บัฟเฟตต์ กับโซรอส)กับ นักลงทุนขี้แพ้ ว่ามีอุปนิสัยในการลงทุนแตกต่างกันอย่างไร โอกาสได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับอุปนิสัย
ในที่นี้ขอพูดถึงอุปนิสัยของเซียนละกัน เพราะว่าคงไม่มีใครในที่นี้ที่กำลังอ่าน blog นี้อยู่ อยากเป็นนักลงทุนขี้แพ้ แล้วอีกเหตุผลหนึ่ง คือ จะได้เป็นแรงบันดาลใจให้เราปรับนิสัยการลงทุนของเราให้ทำตามแบบอย่างเซียนกันด้วยย เรามาดูกันเลยยยว่า อุปนิสัยทั้ง 23 ข้อมีอะไรบ้าง
Let's go
1) จงรักษาเงินต้นไว้ให้ได้เสมอ ข้อนี้สำคัญที่สุด สำหรับโซรอสเขากล่าวว่า การขาดทุนไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด ทำให้เขารู้สึกเหมือนเดินถอยหลังกลับไปสู่จุดต่ำสุดของชีวิตอีกครั้ง
2) มุ่งมั่นที่จะลดความเสี่ยง เป้าหมายของพวกเขา คือ ต้องให้แน่ใจเท่านั้นจึงจะลงทุน เค้าจะไม่ลงทุนในสิ่งที่เขาไม่รู้ ดังคำกล่าวของคุณปู่ที่ว่า "Risk comes from not knowing what you're doing"
3) สร้างปรัชญาการลงทุนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ปรัชญาในการลงทุนของบัฟเฟตต์ คือ ประเมินคุณค่าให้ได้ และมองให้ออกว่ว่ากิจการไหนมีลักษณะที่น่าลงทุน รู้ว่าจะซื้อ ขายตอนไหน
4) พัฒนาระบบที่มีความเหมาะสมเข้ากับนิสัยของตัวเองในการเลือกหุ้น หาจังหวะเข้าซื้อและขาย
เกณฑ์ในการลงทุนของบัฟเฟตต์
- ผมเข้าใจธุรกิจนี้หรือไม่
- ธุรกิจนี้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่น่าดึงดูดใจหรือไม่
- สถานะทางเศรษฐกิจที่น่าดึงดูดใจนั้นมีความยั่งยืนหรือไม่
- ผู้บริหารจัดสรรเงินทุนอย่างเป็นเหตุผลหรือไม่
- ผมอยากเป็นเจ้าของธุรกิจนี้หรือไม่ หากมีทีมผู้บริหารชุดนี้
- บริษัทให้ผลตอบแทนต่อผู้เป็นเจ้าของสูงกว่าค่าเฉลี่ยหรือไม่
- ผมชอบราคานี้หรือไม่ :วัดจากกำไรที่คาดว่าบริษัทจะสามารถทำได้ในอนาคต
5) การกระจายการลงทุนเป็นเรื่องของพวกกระจิบกระจอกเท่านั้น ยิ่งคุณมีหุ้นกระจัดกระจายมากเท่าไร เราก็ยิ่งทุ่มเทกับหุ้นที่เรามีได้น้อยลงเท่านั้น
6) ให้ความสำคัญกับผลตอบแทนหลังหักภาษี วิธีที่จะทำให้เงินทวีคูณขึ้น คือ ขจัดภาระเรื่องภาษีและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมออกไปให้ได้
7) จงลงทุนในสิ่งที่คุณเข้าใจเท่านั้น บัฟเฟตต์พูดไว้ว่า "สิ่งสำคัญที่สุดของขอบข่ายแห่งความชำนาญไม่ได้อยู่ที่ว่ากว้างขวางขนาดไหน แต่อยู่ที่ว่าคุณขีดวงล้อมของมันได้ชัดเจนเพียงใดต่างหาก" คนบางคนมักจะลงทุนตามที่โบรกเกอร์เชียร์ ตัวนี้ดี ตัวนั้นดี โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้รู้เลยว่าหุ้นตัวนั้นทำอะไร แต่จริงๆแล้วเราต่างหากที่ควรจะลงทุนในสิ่งที่เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ มันก็เหมือนกับการที่คุณเข้าใจและสร้างผลตอบแทนได้ดี จากอสังหาริมทรัพย์ แต่พอเห็นว่าสินค้าโภคภัณฑ์บูม ก็เอาเงินไปลงทุนตามคนอื่นแล้วขาดทุนนั่นแหละ
8. จงปฏิเสธที่จะลงทุนในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ในการลงทุนของคุณ บัฟเฟตต์และโซรอสสร้างขอบข่ายแห่งความชำนาญของตัวเองด้วยการตอบคำถามเหล่านี้ คือ ฉันสนใจอะไร ฉันรู้อะไรในตอนนี้ และอะไรที่ฉันอยากรู้แต่ยังไม่รู้ คุณต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ก่อน จึงจะหาเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการลงทุนของตัวเองได้
9) จงทำวิจัยด้วยตัวเอง มองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆให้สอดคล้องกับเกณฑ์ในการลงทุนของตัวเองอยู่เสมอ และเอาจริงเอาจังกับการวิจัยหาข้อมูลด้วยตัวเอง แล้วชอบที่จะฟังเฉพาะนักลงทุนหรือนักวิเคราะห์ผู้มีเหตุผลอันลึกซึ้งควรค่าแก่การนับถือ
บัฟเฟตต์บอกว่า เคยใช้เวลามากกว่าครึ่งเดือนเพื่อนับจำนวนรถจักรที่วิ่งไปมาบนทางรถไฟในแคนซัส O_o แต่เข้ากลับไม่ได้ซื้อหุ้นบริษัทรถไฟ กลายเป็นว่าไปสนใจหุ้นของบริษัทที่ผลิตแก๊สโซลีนเพื่อใช้กับหัวรถจักรแทน และซื้อหุ้นของบริษัทแก๊สแทนรถไฟ ในกรณีนี้บัฟเฟตต์ลงทุนลงแรงทำภาคสนามด้วยตัวเองเลย เขาจึงลงทุนได้ด้วยความมั่นใจ และรู้ข้อมูลที่นักลงทุนคนอื่นๆนอกบริษัทไม่รู้อีกด้วยยย
10) จงอดทนอย่างไม่สิ้นสุด เมื่อเขายังไมเจอการลงทุนที่สอดคล้องกับเกณฑ์ของตัวเอง เขาก็มีความอดทนพอที่จะรอไปอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าจะเจอ "คุณไม่ได้เงินจากการทำโน่นทำนี่ หรอกครับ คุณได้เงินจากการทำสิ่งที่ถูกต้องต่างหาก" บัฟเฟตต์กล่าวในการประชุมประจำปีกับผู้ถือหุ้น
11) จงทำทันที ลงมือทันที เมื่อตัดสินใจดีแล้ว
12) อยู่กับการลงทุนที่ทำให้ได้รับชัยชนะ จนกว่าเหตุผลสมควรให้ขายที่คิดไว้ล่วงหน้าจะอุบัติขึ้น
กลยุทธ์ในการออก : 1)ออก เมื่อโดนแหกกฎ
2) ออก เมื่อเหตุการณ์ที่คาดไว้ได้เกิดขึ้นแล้ว
3) ออก เมื่อบรรลุเป้าหมายตามระบบแล้วหรือราคาไปถึงเป้าหมายแล้ว
4) ออก เมื่อระบบส่งสัญญาณมา นิยมในหมู่นักเทคนิค
5) ออก ตามกฎที่ตั้งไว้ เช่น พอราคาถึงจุดหนึ่งก็จะขาย หรือขายทันทีเมื่อขาดทุน 10 เปอร์เซ็นต์หรือจุดที่เราตั้งไว้
6) ออก เมื่อรู้ตัวว่าได้ทำผิดพลาดไปแล้ว
13) จงทำตามระบบของคุณด้วยความศรัทธา ไม่มีการเปลี่ยนเกณฑ์การลงทุน หรือลดเป้า เพื่อปลอบใจตัวเองว่าฉันทำถูกแล้ว
14) ยอมรับความผิดพลาดและแก้ไขทันที เมื่อความผิดพลาดนั้นปรากฏชัด ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็แค่ขาดทุนเล็กน้อย
15) เปลี่ยนความผิดพลาดเป็นประสบการณ์ฟิชเชอร์กล่าวว่า "การทบทวนความผิดพลาด อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการระลึกถึงแต่ความสำเร็จซะอีก"
16) ลงทุนลงแรง เมื่อประสบการณ์เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ใช้เวลาน้อยลงเพื่อทำเงินได้มากขึ้น เพราะได้ลงทุนลงแรง ไปแล้ว
17) ไม่เคยพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำ แทบจะไม่บอกใครเลยว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับการลงทุนของเขา จะบอกทำไม ในเมื่อบัฟเฟตต์รู้ตัวดีว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาช่วยยืนยันการตัดสินใจแต่อย่างใด เช่นเดียวกับโซรอสที่ไ่เคยเปิดเผยความเคลื่อนไหวของตัวเองให้ใครรู้ เพราะถ้าคนอื่นรู้ว่าเขาทำอะไรอยู่ก็จะแห่กันเข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้น และราคาก็จะสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของเขาสูงขึ้นไปน่ะสิ
18) รู้วิธีเป็นผู้นำ นักลงทุนชั้นเซียนจะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบบางส่วนหรือทั้งหมดให้กับคนอื่น สำหรับบัฟเฟตต์แล้ว ทุกๆการลงทุน คือ การกระจายงาน เขาจะระลึกเสมอว่า เขากำลังเอาอนาคตของเงินของตัวเองไปให้คนอื่นดูแล และเขาจะมอบหมายหน้าที่นี้ให้กับคนที่เขาไว้ใจและนับถือเท่านั้น
19) จงใช้ชีวิตต่ำกว่าฐานะของคุณ ถ้าคุณไม่รู้คุณค่าของเงิน คุณย่อมไม่รู้จักเก็บออมเงินทองที่หามาได้ การใช้เงินนั้นง่ายมากๆ ใครก็ทำได้ แต่หาเงินสิยากกว่า นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมการใช้ชีวิตต่ำกว่าฐานะของตัวเองจึงเป็นทัศนคติที่เป็นรากฐานของความสำเร็จของบัฟเฟตต์และโซรอส
20) ก้าวให้พ้นเรื่องเงิน นักลงทุนชั้นเซียนทำงานที่ทำอยู่ เพราะงานนั้นทำให้กระชุ่มกระชวยและเติมเต็มชีวิตของเขา ไม่ใช่ ทำงานเพื่อเงิน ถ้าคุณมีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งนั้น เงินทองที่คุณทำได้ในระหว่างไล่ล่าเป้าหมาย จะเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้นเอง
21) กระบวนการ นักลงทุนชั้นเซียน จะผูกพันกับกระบวนการในการลงทุน สามารถปฏิเสธหรือล้มเลิกการลงทุนใดๆได้ง่ายๆ // สิ่งที่เหมือนกันในบรรดาที่เป็นคนสุดยอดในแนวทางของตัวเองก็คือ พวกเขาถูกผลักดันจาก กระบวนการกระทำ // การลงทุนสำหรับนักลงทุนชั้นเซียนก็เหมือนการวาดภาพของจิตรกร ซึ่งบางคนอาจชอบวาดภาพด้วยสีน้ำมัน สิ่งที่เขารักคือ การ 'วาดภาพด้วยสีน้ำมัน' แต่เข้าไม่ได้รัก 'สีน้ำมัน'
22) หายใจเข้า-ออก เป็นการลงทุนตลอดเวลา
เรื่องเล่าของบัฟเฟตต์ :: เย็นวันหนึ่ง บัฟเฟตต์และซูซาน ไปกินอาหารเย็นที่บ้านเพื่อน ที่เพ่ิงจะกลับมาจากอียิปต์ หลังจากทานข้าวเสร็จ เพื่อนก็เตรียมสไลด์รูปภาพไว้ให้ดู แต่บัฟเฟตต์กลับบอกว่า "เอางี้ไหม คุณเปิดสไลด์ให้ซูซานดู ส่วนผมขอเข้าไปในห้องนอนของคุณ เพื่ออ่านรายงานประจำปีแล้วกัน" O_o
23) เอาเงินของคุณใส่ลงไปด้วย ทั้งบัฟเฟตต์และโซรอส ต่างก็เอาเงินใส่ลงไปในการลงทุนที่ตัวเองบริหารจัดการอยู่ ด้วยเหตุผลเดียวกับการที่นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทุกคนมีสินทรัพย์ผูกติดอยู่ในธุรกิจที่ตัวเองทำ การลงทุนของพวกเขา คือ ลงทุนในสิ่งที่ตัวเองรู้ว่าจะทำเงินได้ นั่นคือ สิ่งที่เขารักนั่นเอง
จบแล้วสำหรับอุปนิสัยการลงทุน หวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ ไม่มากก็น้อยน๊าาา
ที่มา : http://www.sarut-homesite.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น